ปลดล็อก400โรงงานแปดริ้ว

ปลดล็อก400โรงงานแปดริ้ว

หอการค้าฉะเชิงเทรา หนุนปลดล็อกผังเมือง เปิดทางเอสเอ็มอีขยายโรงงานเต็มพื้นที่ ช่วยโรงงานฉะเชิงเทรา 400 แห่ง ขยายกิจการ

แนะลดข้อจำกัดห้ามตั้งริมฝั่งบางปะกง 500 เมตร เผย 4 พื้นที่ เหมาะตั้งเมืองใหม่ หนุนตั้งธุรกิจศูนย์ประชุม โรงงาน โรงแรมเพิ่ม

นายประโยชน์ โสรัจจกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า แผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะมีการเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในวันที่ 5 ส.ค.นี้ ภาคเอกชนเห็นว่ามีจุดเด่นในเรื่องการปลดล็อกโรงงานเอสเอ็มอีในพื้นที่อีอีซี โดยทำให้สามารถขยายโรงงานได้เต็มพื้นที่ตามขนาดที่ดินที่มีอยู่จะช่วยเอสเอ็มอีได้เป็นจำนวนมาก

ปลดล็อก400โรงงานแปดริ้ว

ทั้งนี้ ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีโรงงานเอสเอ็มอี 2,000 โรงงาน มีโรงงานที่ติดปัญหาผังเมืองไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้ 300-400 โรงงาน โดยประเมินประโยชน์ที่ได้รับ 2 ส่วน คือ 1.จะทำให้โรงงานเหล่านี้สามารถรักษาแรงงานประมาณ 3-4 หมื่นคน ให้มีงานทำที่มั่นคง

2.จะส่งผลให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเมื่อโรงงานขยายกิจการได้ ก็จะทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่ม ทำให้มีการจ่ายค่าจ้างแรงงานเพิ่ม รวมทั้งยังช่วยให้เกิดการจ้างงานใหม่เพิ่มขึ้นด้วย

หนุนเปลี่ยนประเภท รง.4

นอกจากนี้ อีอีซี ควรจะเปิดให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีอยู่เดิมในพื้นที่อีอีซี สามารถเปลี่ยนประเภทอุตสาหกรรม รง.4 ได้ เนื่องจากกระแสการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการบางส่วนต้องการที่จะเปลี่ยนประเภทการผลิตสินค้าจากเดิมไปสู่สินค้าชนิดใหม่ที่ตลาดมีความต้องการสูง

โดยเฉพาะสินค้าชิ้นส่วนที่ป้อนให้กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แบบเดิมต้องการจะเปลี่ยนไปผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตใหม่ทั้งหมด จึงควรให้อุตสาหกรรมเหล่านี้เปลี่ยนประเภทการผลิตได้

"ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั้งประเทศได้รับความเดือดร้อนจากข้อกำหนดผังเมืองมานาน เพราะโรงงานส่วนใหญ่ได้ตั้งกิจการก่อนที่ผังเมืองจะประกาศใช้ ซึ่งผังเมืองที่ประกาศมาภายหลังได้กำหนดสีการใช้พื้นที่ไม่ตรงกับกิจการเดิมที่มีอยู่ทำให้โรงงานเหล่านี้ติดปัญหาขยายกิจการได้ยาก ส่งผลให้เอสเอ็มอีจำนวนมากไม่เติบโต ขยายธุรกิจไปสู่ขนาดกลางและใหญ่ได้น้อย” นายประโยชน์ กล่าว

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังเป็นห่วงในเรื่องผังการใช้ประโยชน์ที่ดินอีอีซี ที่กำหนดระยะห่างจากฝั่งแม่น้ำ 500 เมตร ห้ามตั้งโรงงานอุตสาหกรรม จากเดิมกำหนดเพียง 100 เมตร เนื่องจากแม่น้ำบางปะกงมีความคดเคี้ยว หากกำหนดไว้ริมฝั่งด้านละ 500 เมตร ก็ทำให้พื้นที่ที่สามารถตั้งโรงงานเหลืออยู่น้อยมากทำให้ใช้พื้นที่เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่

แนะตั้งโรงงานอุตฯสะอาดได้

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะใน จ.ฉะเชิงเทรา จะเน้นอุตสาหกรรมสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นก็ควรจะตั้งได้ในทุกที่รวมทั้งพื้นที่สีเขียว เพราะโรงงานแปรรูปผลผลิตการเกษตรควรจะอยู่ในพื้นที่ที่เป็นแหล่งผลิตการเกษตร หากตั้งอยู่ห่างไกลพื้นที่การเกษตรก็จะทำให้ต้นทุนการขนส่งเพิ่มขึ้น แต่ควรจะห้ามเพียงอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการปล่อยมลพิษ 16 ประเภท เข้ามาตั้งใน จ.ฉะเชิงเทรา
“ภาครัฐควรหันไปเข้มงวดกับการออกแบบโรงงานให้มีระบบรักษาสิ่งแวดล้อม ตรวจตราโรงงานอย่างเข้มงวดจะดีกว่าการจำกัดพื้นที่ห้ามตั้งโรงงาน จะทำให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่เต็มที่”นายประโยชน์ กล่าว

ส่วนการที่เปิดให้พื้นที่ถัดจากริมฝั่งแม่น้ำ 200 เมตร สามารถตั้งธุรกิจบริการ โรงแรม คลังสินค้า ธุรกิจโลจิสติกส์ได้นั้น ก็อยากให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำหนดอย่างชัดเจน เพราะกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะกำหนดว่าจะเป็นโรงงานหรือไม่อยู่ที่ขนาดแรงม้าของเครื่องจักร ซึ่งบางธุรกิจบริการบางส่วนก็ต้องใช้เครื่องจักรในการทำงาน อาจจะมีผลต่อการตีความว่าเป็นโรงงานหรือไม่

“พื้นที่จ.ฉะเชิงเทรากว่า 90% เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ดังนั้นการที่จะพัฒนาภาคอุตสาหกรรรมและชุมชนเมือง จึงหลีกเลี่ยงที่จะลดพื้นที่เกษตรกรรมไม่ได้ โดยควรจะเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการเกษตร หรือให้ผลผลิตไม่คุ้มค่าไปทำอย่างอื่นที่สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่มากกว่า โดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำเค็มท่วมถึงมีก็ควรนำมาเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งจะเกิดประโยชน์มากกว่าการทำเกษตร”นายประโยชน์ กล่าว

4พื้นที่เหมาะตั้งเมืองใหม่

นายประโยชน์ กล่าวว่า ในส่วนของการตั้งเมืองใหม่ในพื้นที่ฉะเชิงเทรานั้น มองว่ามีอยู่ 4 พื้นที่ที่มีความเหมาะสม ได้แก่ อ.บ้านโพธิ์ อ.แปลงยาว อ.บางปะกง และอ.เมือง เพราะอยู่ใกล้พื้นที่รถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรจะขยายโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณูปโภคให้มีความพร้อมครอบคลุมทั่วถึง โดยเฉพาะเรื่องน้ำประปา เพราะในจ.ฉะเชิงเทรายังมีหลายพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำประปา

รวมทั้งการขยายโครงข่ายถนน และระบบสาธารณสุขเพิ่มจำนวนโรงพยาบาล เพื่อรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจะต้องสร้างแม่เหล็กในการดึงดูดให้คนเข้ามาอยู่ในพื้นที่ โดยการส่งเสริมแหล่งจ้างงานต่างๆ เช่น เพิ่มพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรม การตั้งศูนย์จัดแสดงสินค้านานาชาติ ศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ โรงแรม เป็นต้น ซึ่งควรจะมีมาตรการสิทธิพิเศษทางภาษีจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อดึงดูดธุรกิจเหล่านี้ให้เข้ามาตั้งในจ.ฉะเชิงเทรา

จี้เปิดรายละเอียดผังเมือง

นายประโยชน์ กล่าวว่า สกพอ.ควรจะเปิดเผยข้อมูลรายละเอียดของผังเมืองอีอีซี อย่างละเอียดให้ผู้ประกอบการได้รับทราบ เพื่อจะได้มีข้อมูลในการวางแผนการลงทุนในด้านต่างๆ อย่างชัดเจน เพราะหากไม่มีความชัดเจนการลงทุนใหม่ๆ ก็เกิดขึ้นได้ยาก ซึ่งที่ผ่านมาทาง อีอีซี มีความเป็นห่วงว่าจะเกิดการเก็งกำไรราคาที่ดินทำให้ที่ดินราคาสูงจนเกินไป แต่ภาคเอกชนมองว่าควรจะเปิดเผยให้ทุกฝ่ายได้รับทราบปล่อยให้ราคาที่ดินปรับไปตามกลไกตลาด จะทำให้ทุกฝ่ายได้รับประโยชน์จากโครงการ อีอีซี

“ผู้ประกอบการใน จ.ฉะเชิงเทราได้รับข้อมูลน้อยเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ เพราะบริษัทขนาดใหญ่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลได้มากกว่า ทำให้ผู้ประกอบการท้องถิ่นสู้กับรายใหญ่ได้ยากได้รับประโยชน์จากการพัฒนาอีอีซี ไม่เต็มที่ โดยคนฉะเชิงเทราส่วนใหญ่ยินดีต้อนรับโครงการอีอีซี และพร้อมที่จะลงทุนในพื้นที่สร้างเศรษฐกิจในจ.ฉะเชิงเทรา ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น”นายประโยชน์ กล่าว