‘The Founder’ ถอดความสำเร็จ 25 ผู้ก่อตั้งธุรกิจยุคใหม่

‘The Founder’ ถอดความสำเร็จ 25 ผู้ก่อตั้งธุรกิจยุคใหม่

เอ็นไอเอ รวบรวม 25 ซีอีโอแห่งยุค ถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ก่อนจะก้าวสู่การเป็น “ผู้ก่อตั้ง” ค้นหาดีเอ็นเอผู้ประกอบการนวัตกรรมผ่านหนังสือ “The Founder” ไกด์บุ๊คนำทางความสำเร็จของธุรกิจยุคใหม่

เอ็นไอเอชวนค้นหาดีเอ็นเอผู้ประกอบการนวัตกรรมผ่านหนังสือ “The Founder” ไกด์บุ๊คนำทางความสำเร็จของธุรกิจยุคใหม่ รวบรวม 25 ซีอีโอแห่งยุคถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ก่อนจะก้าวสู่การเป็น “ผู้ก่อตั้ง” และรูปแบบกลยุทธ์เพื่อความสำเร็จขององค์กรในระยะยาว พร้อมส่งตรงแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่สามารถสร้างรูปแบบธุรกิจที่ดีที่สุดสำหรับองค์กรธุรกิจของตน
เนื้อหาในหนังสือมีความหลากหลายของผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรมทั้ง 25 คน ทั้งเจ้าของรุ่นแรกของบริษัทใหญ่ในรูปแบบคอร์ปอเรท หรือทายาทรุ่นสองผู้สืบทอดกิจการที่ต้องการเป็นผู้ก่อตั้งหรือผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจของตัวเอง รวมทั้งกลุ่มสตาร์ทอัพที่ก่อตั้งบริษัทและเติบโตแบบก้าวกระโดด

“อะไรคือ ดีเอ็นเอ ของการสร้างนวัตกรรมในกระบวนการทางธุรกิจ อะไรคือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้บริษัทเติบโตด้วยแนวคิดที่แตกต่างกัน บทสัมภาษณ์ทั้ง 25 ผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรม จะเผยให้เห็น Business Model Innovation ซึ่งเกิดจากความสร้างสรรค์ของพวกเขา” พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ กล่าว

ในมหาสมุทรกว้างใหญ่ของโลกธุรกิจ มีคำเปรียบเปรยว่า “ผู้ประกอบการ” ที่ตัดสินใจก่อตั้งองค์กรของตัวเองนั้นเปรียบเสมือนปลา ที่ต้องสู้กับคลื่นลมและอุปสรรคต่างๆ เพื่อความอยู่รอดและขยายอาณาจักรของตนเองให้อยู่ได้อย่างมั่นคง ไม่ว่าจะเป็น ปลาเล็กอย่างกลุ่มสตาร์ทอัพ ที่เป็นกระแสจุดติดในช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา หรือปลาใหญ่อย่าง คอร์ปอเรทที่อยู่มายาวนานกว่าร้อยปี

25 ซีอีโอในหนังสือ “The Founder” ล้วนเป็น The Founder ที่ยืนอยู่ในตำแหน่งเจ้าขององค์กร เป็นผู้นำสูงสุดที่เอ็นไอเอถือว่าเป็นผู้กล้าเสี่ยง และเป็นคนที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พวกเขาคือ “นวัตกรผู้สร้างนวัตกรรม” จึงเป็นจุดกำเนิดของหนังสือเล่มนี้เพื่อนำเสนอมุมมองของ 25 บุคคลต้นแบบผู้ก่อตั้งธุรกิจนวัตกรรม ที่จะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจกับคนไทยให้ตื่นตัวในการสร้างธุรกิจนวัตกรรม และทำให้นวัตกรรมเป็นอีกหนึ่งกลไกผลักดันให้เป็นประเทศนวัตกรรม (Innovation Thailand) และก้าวสู่ประเทศไทย 4.0 ตามนโยบายรัฐบาลได้ต่อไป

ยกตัวอย่าง "ยอด ชินสุภัคกุล" ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด เป็น 1 ใน The Founder กล่าวว่า เมื่อ 8 ปีที่แล้วซึ่งสมัยนั้นเว็บไซต์อันดับต้นๆ ในไทยมีแต่ข่าวอาชญากรรม คลิปหลุดดารา หวย ดูดวง เป็นเนื้อหาที่ไม่ใช่สิ่งที่มีประโยชน์ ขณะที่ญี่ปุ่นและสหรัฐได้ก้าวข้ามยุคของ portal web ไปสู่เว็บ user generated content คือเป็นเว็บไซต์ร่วมกันสร้าง และมีประโยชน์ต่อไลฟ์สไตล์จริงๆ จึงจุดไอเดียนำมาสู่เว็บไซต์วงใน (wongnai)

“หัวใจที่จะรักษาความเป็นผู้นำของเว็บไซต์และบริการเครือข่ายสังคมด้านร้านอาหาร คือ เนื้อหาคุณภาพที่มีคุณค่าให้คนไทยติดตามและเข้าใช้ ”วงใน“ ทุกวัน เราจึงทำการอัพเดตคอนเทนต์ทุกสัปดาห์และพัฒนารูปแบบการค้นหาใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับบุคลากรในองค์กร ซึ่งมีประมาณ 70 คน อายุเฉลี่ย 22-25 ปี ทำให้ต้องสร้างวัฒนธรรมในองค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูงให้เจน Y ทำงานแล้วมีความสุข” ยอด กล่าว

ขณะที่ ประยูร พลอยพรหมมาศ ผู้ก่อตั้งและประธาน หจก.ประยูร ออคิดส์ ธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้เพื่อการส่งออก เจ้าของรางวัลสุดยอดธุรกิจนวัตกรรม รองชนะเลิศอันดับ 2 ด้านเศรษฐกิจ ปี 2553 กล่าวว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีสำหรับภาคธุรกิจ เพื่อสร้างความแตกต่างและความใหม่ที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืนทั้งที่เป็นธุรกิจของตนเองและธุรกิจของลูกค้า

“ผมจะคิดวิเคราะห์ล่วงหน้า 5 ปีถึงแนวโน้มธุรกิจ เทรนด์การตลาดของประเทศคู่ค้า แนวโน้มทางเศรษฐกิจ คาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ก็จะไม่ถูกผลกระทบจากกระแสการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น ขณะเดียวกันยังแชร์ข้อมูลหรือคำแนะนำที่ช่วยให้ลูกค้าปรับตัวได้เร็ว เพราะถ้าลูกค้าอยู่รอดและเติบโต เราก็อยู่รอดและเติบโตด้วย นี่เป็นวิธีทำธุรกิจส่งออกต้นอ่อนกล้วยไม้ในขวดแก้วของผมตลอด 40 ปีที่ผ่านมา”

ส่วนผลงานรางวัลนวัตกรรมฯ นั้น บริษัทได้พัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ในขวดแก้วส่งออกไปยังสหรัฐและยุโรป ต่อมาได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้สามารถขนส่งทางเรือ 20-30 วัน โดยที่ต้นอ่อนในขวดแก้วยังเจริญเติบโตได้ดี แทนการขนส่งทางเครื่องบินซึ่งมีราคาต้นทุนสูง ทำให้ลดต้นทุนค่าขนส่งออกนอกประเทศได้มากกว่า 50%