'กระตุ้นคลื่นสมอง' ความหวังผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

'กระตุ้นคลื่นสมอง' ความหวังผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

ดร.อดิสร นักเทคโนโลยีจาก สวทช.อัพเดตความคืบหน้าการค้นหาวิธีรักษาลดความเสื่อมของสมอง ซึ่งเป็นต้นตอของโรคอัลไซเมอร์ ผู้ป่วยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจนน่าตกใจโดยเฉพาะเมื่อโลกเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ

โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มอาการสมองเสื่อม โดยเป็นหนึ่งในโรคที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงานหรือโครงสร้างของเนื้อเยื่อของสมอง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุแต่ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องเป็นอัลไซเมอร์ทุกคน โรคนี้ไม่ใช่ความเสื่อมตามธรรมชาติ แต่เป็นความเสื่อมที่เกิดจากโปรตีนชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เบต้า-อะไมลอยด์ (beta-amyloid) ชนิดไม่ละลายน้ำ ซึ่งเมื่อไปจับกับเซลล์สมองจะส่งผลให้เซลล์สมองเสื่อมและฝ่อ รวมถึงทำให้การสื่อสารระหว่างเซลล์สมองเสียหายจากการลดลงของสารอะซีติลโคลีน (acetylcholine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่ส่งผลโดยตรงกับความทรงจำ

การสะสมของเบต้า-อะไมลอยด์ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองค่อยๆ ลดลง เริ่มจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ที่มีบทบาทสำคัญในการจดจำข้อมูลใหม่ๆ เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ถูกทำลาย ผู้ป่วยจะเริ่มมีปัญหาเรื่องความจำโดยเฉพาะความจำระยะสั้น จากนั้นความเสียหายที่เกิดขึ้นจะแพร่กระจายไปสู่สมองส่วนอื่นๆ และส่งผลต่อการเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ภาษาและพฤติกรรม โดยพบได้ถึงร้อยละ 60-70

ทั่วโลกมีผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้น 1 คนในทุกๆ 68 วินาที คาดว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยกว่า 50 ล้านคน นับเป็นความท้าทายสำคัญของระบบสาธารณสุขโลก สำหรับในประเทศไทยพบความชุกของโรคร้อยละ 3-5 จะพบมากขึ้นตามอายุซึ่งอาจพบสูงถึงร้อยละ 30 ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 85 ปี ในปี 2558 มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ในประเทศไทยประมาณ 800,000 คน และคาดว่าในปี 2573 จะเพิ่มเป็น 1,117,000 คน จะเห็นได้ว่า อัตราผู้ป่วยมีแนวโน้มที่สูงขึ้นจนน่าตกใจ

นักวิจัยทั่วโลกต่างพยายามค้นหาวิธีการตรวจวัดและรักษาแบบใหม่ ล่าสุด นักวิจัยจากศูนย์วิจัย Picower Institute for Learning and Memory ของ MIT ประสบความสำเร็จในการลดความเสื่อมของสมองโดยใช้การกระตุ้นคลื่นสมอง Brain Wave Stimulation ด้วยการผสมผสานคลื่นเสียงและคลื่นแสงไปด้วยกันในช่วงคลื่น Gamma Oscillation ซึ่งมีความถี่ระหว่าง 25 ถึง 80 เฮิร์ตซ์ ซึ่งเป็นช่วงคลื่นสัญญาณไฟฟ้าในเซลล์ประสาทที่ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มักจะบกพร่องไป

จากการทดสอบเบื้องต้นในหนูทดลองพบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจดจำและการรับรู้ ลดการเกิดเบต้า-อะไมลอยด์ในสมองของหนู ขณะนี้ทางคณะนักวิจัยกำลังทำการทดสอบในมนุษย์ โดยใช้แสงที่กระพริบที่ 40 ครั้งต่อวินาที เป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน พบว่าสามารถลดการเกิดอะไมลอยด์ และโปรตีน Tau ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ระดับความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์อีกด้วย ทีมวิจัยกำลังทดสอบการใช้คลื่นเสียง 40 เฮิร์ตซ์ เป็นเวลา 1 ชั่วโมงต่อวัน ติดต่อกัน 7 วัน เพื่อดูว่ามีผลต่อสมองส่วนอื่นๆ นอกจากฮิปโปแคมปัส ซึ่งเป็นสมองส่วนการจดจำโดยตรงด้วยหรือไม่ โดยล่าสุดพบว่า สามารถลดการเสื่อมของสมองในส่วนการได้ยิน ที่เรียกว่า Auditory Cortex ลงได้ ทำให้ขั้นต่อไป นักวิจัยจึงผสานทั้งคลื่นเสียงและคลื่นแสงเข้าด้วยกัน พบว่าได้ผลดีขึ้นกว่าการใช้คลื่นแสงหรือเสียงแต่เพียงอย่างเดียว

ผลการวิจัยนี้ทำให้ทั้งวงการตื่นเต้นกับผลการวิจัยนี้เป็นอย่างมาก นับว่าเป็นผลความก้าวหน้าที่น่าประทับใจของโครงการ MIT Aging Brain Initiative และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติ Cell เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา นับว่าเป็นความหวังของผู้ป่วยอัลไซเมอร์และพวกเราที่นับวันจะแก่ลงและอาจจะเป็นโรคนี้ในอนาคต

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ นักวิจัยอาวุโสศูนย์เทคโนโลยีเพื่อความมั่นคงของประเทศและการประยุกต์เชิงพาณิชย์ สวทช., เมธีวิจัยอาวุโส สกสว.