เทศกาลอาหารไทย ครั้งแรกในมิวนิก

เทศกาลอาหารไทย ครั้งแรกในมิวนิก

เปิดตัวอย่างสง่างามท่ามกลางบรรยากาศเอ็กซคลูซีพ สำหรับเทศกาลอาหารไทย 2019 (Thai Food Festival 2019)ในมิวนิก ซึ่งสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยการสนับสนุนจาก บริษัท การบินไทย (มหาชน) จำกัด

เทศกาลอาหารไทยครั้งนี้ จัดขึ้น ณ kunstlerhaus (Munich House of Artists) เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ในการประชาสัมพันธ์และมุ่งหวังยกระดับอาหารไทยให้ขึ้นไปอยู่ในระดับพรีเมี่ยม พร้อมทั้งบรรจุอาหารไทยเป็นเมนูประจำในห้องอาหารของโรงแรมระดับลักซ์ชัวรี่ ภายในงานแบ่งออกเป็น 2 ภาค ได้แก่

คลาสสอนทำอาหารในช่วงกลางวัน โดย พงษ์อนันต์ ศิริแสงไพรวัลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ประจำโรงเรียนการอาหารนานาชาติสวนดุสิต สอนให้ทำอาหารไทยที่สามารถหาผักผลไม้ที่มีรสชาติใกล้เคียงทดแทนได้ เช่น ส้มตำ ม้าฮ่อ ปลาแห้งแตงโม รวมทั้งแนะนำการตกแต่งจานอาหารแบบง่ายๆ

และงานเลี้ยงในช่วงค่ำ สำหรับแขกรับเชิญ จัดให้มีการแสดงดนตรีไทย นาฏศิลป์ 4 ภาค รวมทั้งการสาธิตวาดภาพระบายสีบนร่มบ่อสร้าง โดยมีไฮไลท์อยู่ที่ซุ้มอาหารไทย 4 ภาค จาก 4 ร้านอาหารไทยในมิวนิก ได้แก่

ร้านเรือนทอง  จัดสำรับอาหารภาคเหนือ อาทิเช่น ข้าวซอยไก่ น้ำพริกอ่องกับแคบหมู ลาบหมูทอด และข้าวเหนียวดอกอัญชัน

ร้านหมุน หมุน  นำเสนอความจัดจ้านของอาหารอีสานเมนูยอดนิยม ส้มตำ ลาบไก่ หมูน้ำตก พร้อม ข้าวเหนียวร้อนๆ

ร้านบีไทยสไตล์ ชวนชิมอาหารภาคกลางที่ชาวต่างชาติชื่นชอบ ได้แก่ ข้าวผัดสับปะรด ฉู่ฉี่กุ้ง และ ไก่สะเต๊ะ

ร้านไทยแลนด์-ด็อยช์ บิสโทร เผ็ดร้อนแบบภาคใต้ด้วยเมนู ขนมจีนน้ำยาปักษ์ใต้ ข้าวยำปักษ์ใต้ และซีฟู้ดบาร์บีคิว

พร้อมด้วยเชฟจากครัวการบินไทย ที่นำผลิตภัณฑ์ “เอื้องหลวง” น้ำแกงสำเร็จรูป มาสาธิตและปรุงสดใหม่ให้รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ ตบท้ายด้วยข้าวเหนียวมะม่วงจากสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก

อิ่มตา อิ่มท้องแล้ว บริเวณชั้น 2 ของสถานที่จัดงานมีบริการนวดไทยจากบัวสยาม ที่คว้ารางวัล Phonix Preis 2018 มาช่วยบรรเทาคลายเครียดให้กล้ามเนื้อ คอ บ่า และไหล่ กล่าวได้ว่าเป็นค่ำคืนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งความสุข ทุกซุ้มอาหารและบริการมีผู้สนใจเข้าแถวยาวเหยียด

อาหารไทยยังไปได้อีก

วัลย์ลิกา อั๋งสกุล รองกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก กล่าวถึงที่มาของเทศกาลอาหารไทยในครั้งนี้ว่า

“สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก เพิ่งจะตั้งได้เพียง 1 ปี ใน 1 ปีที่ผ่านมาเราพยายามที่ประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นในหลายๆส่วน ประเด็นที่สำคัญ คือ อัตลักษณ์ไทย วัฒนธรรมไทย อาหารไทย ชุมชนไทย เป็นประเด็นที่มีความเกี่ยวเนื่องกัน

ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเราได้จัดโครงการส่งเสริมอัตลักษณ์ไทย กึ่งๆเป็นไทยเฟสติวัลแบบนี้แต่เป็นในลักษณะที่เป็นแมส จากตรงนั้นเราพัฒนามาเรื่อยๆจนเห็นว่าตลาดเรื่องวัฒนธรรมไทย อาหารไทยสามารถที่จะพัฒนาหรือดีดตัวจากสตรีทฟู้ดให้เป็นพรีเมี่ยม ควีซีนได้

 ด้วยเหตุนี้เราจึงจัดงานนี้ขึ้นมาโดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เอ็กซคลูซีพ เราจะจับกลุ่มตลาดบน เรามองว่าที่มิวนิกถ้าหากว่ามีร้านอาหารญี่ปุ่นอย่างมัตสุฮิสะได้เราก็สามารถมีร้านอาหารไทยแบบพรีเมี่ยมได้ นี่คือเป้าหมายหลักที่เราต้องการไปให้ถึง”

โดยมีโครงการต่อเนื่องในการผลักดันอาหารไทยที่ชาวเยอรมันชื่นชอบ เช่น ต้มยำกุ้ง แกงมัสมั่น และแกงเผ็ด (แกงแดง) ให้เข้าไปอยู่ในเมนูประจำในห้องอาหารของโรงแรมระดับ 5 ดาวและเหนือกว่านั้น

“เรามีโครงการร่วมกับทางโรงแรมเคมปินสกี้ จัดเป็นสัปดาห์อาหารไทย พยายามที่จะพัฒนาให้มีเมนูอาหารไทยอยู่ในระยะยาว เป็นเมนูประจำของห้องอาหารเลย เราเคยร่วมงานกับเชฟของทางโรงแรมเคมปินสกี้ ซึ่งเฮดเชฟมีความชื่นชอบในอาหารไทย โดยมีแนวคิดจัดโครงการแลกเปลี่ยนเชฟ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ในโอกาสต่อไป”

รสไทยใช่เลย

พัณณ์สกุณ อมาตยกุล ผู้จัดการกองการตลาดและพัฒนาธุรกิจ และ ฐิติมา ขวัญเมือง ผู้จัดการแผนกวางแผนการตลาด ฝ่ายครัวการบินไทย กล่าวถึงการนำผลิตภัณฑ์ “เอื้องหลวง”มาร่วมงานครั้งนี้ว่ามีเซอร์ไพร้สเล็กๆ

 ด้วยการนำ “น้ำซอส” ผัดไทย และ ผัดกะเพรา ผลิตภัณฑ์น้องใหม่ล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในงาน THAIFEX – World of Food ASIA 2019 เมื่อเดือนมิถุนายน มาร่วมนำเสนอพร้อมน้ำแกงสำเร็จรูป ได้แก่ แกงแดง แกงเขียนหวาน แกงมัสมั่น และแพนง เพียงแค่ฉีกซองแล้วปรุงตามขั้นตอนโดยเติมเนื้อสัตว์ ผัก ลงไปก็จะได้รสชาติน้ำแกงสูตรต้นตำรับของครัวการบินไทยไม่ผิดเพี้ยน

“ผลิตภัณฑ์เอื้องหลวง เราผลิตได้มาสักพักหนึ่งแล้วแต่เรานำมาใช้เป็นการภายใน ใช้เสิร์ฟผู้โดยสารบนเครื่อง ก็มีเสียงจากผู้โดยสารออกมาว่าทำไมไม่ทำขายเพราะถ้าไม่ได้ขึ้นเครื่องก็อยากทาน เราจึงได้ไอเดียมาทำขายเป็นรีเทล แต่ยังไม่ได้มีการทำการตลาดจริงจัง

ครั้งนี้เราเริ่มทำจริงจังด้วยการเปลี่ยนแพคเกจจิ้งให้มีรูปลักษณ์ทันสมัย เพื่อวางขายตามร้านรีเทล ซูเปอร์มาร์เก็ต โดยหวังตลาดต่างประเทศ 60 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศสัก 40 เปอร์เซ็นต์” พัณณ์สกุณ กล่าว

“ ลูกค้าที่เป็นผู้โดยสารขึ้นเครื่องชาวต่างชาติส่วนใหญ่ชอบอาหารไทยอยู่แล้ว คนเยอรมันคุ้นเคยกับอาหารไทย โดยเฉพาะแกงแดง แพนง ถือว่าเป็นไฮไลท์ มาครั้งนี้เราสำรวจตลาดตามซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยพบว่ามีพริกแกงสำเร็จรูปขายอยู่แต่ ไม่ใช่น้ำแกงสำเร็จรูปเหมือนของเรา ซึ่งถือว่าได้เราเปรียบ”

ฐิติมาบอกกับเรา พร้อมแนะเคล็ดลับในการปรุงน้ำแกงสำเร็จรูป “เอื้องหลวง”ด้วยว่าควรจะทำเนื้อสัตว์ให้สุกก่อนนำไปปรุงรวมกับน้ำแกง จะทำให้เข้ากันพอดี

บัวสยามความภูมิใจของนวดไทย

แม้จะเป็นร้านนวดแผนไทยเพียง 1 เดียวที่ได้เข้าร่วมในงานเทศกาลอาหารไทย 2019 แต่บัวสยามเป็นร้านนวดแผนไทยที่มีสาขาถึง 9 แห่ง โดยมีรางวัล Phonix Preis 2018 เป็นเครื่องการันตีคุณภาพ

“รางวัลนี้เป็นรางวัลที่มอบให้กับชาวต่างชาติที่มีความมุ่งมั่นในการทำงาน เรียกว่าเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพ ขณะเดียวกันเราก็มีมาตรฐานเทคนิคในการนวด รวมทั้งความสะอาดด้วย” อรปรียา ฮอฟมันน์  เจ้าของร้านบัวสยามบอกกับเรา

“พนักงานของเราต้องมีประกาศนียบัตร มีการฝึกอบรมเพิ่มเพื่อให้เป็นไปในทิศทางและมาตรฐานเดียวกัน คนเยอรมันมีปัญหาหลังบ่าไหล่ เราจะใช้วิธีการนวดแบบผสมผสานโดยใช้ออยล์ในการนวด คนเยอรมันจะตัวแข็ง เราต้องปรับเทคนิคการนวดให้เข้ากับเขา”

เมื่อถามถึงความนิยมของการนวดแผนไทยในมิวนิก เจ้าของร้านบัวสยามบอกว่า “ยังขยายตัวได้อีกเยอะปัญหาคือขาดแรงงาน ต้องใช้คนที่มีทะเบียนสมรสและมีวีซ่าทำงานอยู่ที่เยอรมันเท่านั้น ไม่สามารถนำเข้าแรงงานได้

มาถึงวันนี้รู้สึกดีใจที่ทำให้คนเข้าใจวิชาชีพนวดไทยไปในทางที่ถูกต้องและดีใจที่เพื่อนร่วมงานมีความภูมิใจในอาชีพ บางคนเคยอายที่ภรรยาทำงานร้านนวด ตอนนี้เขาภูมิใจที่ภรรยาทำงานในร้านนวดที่มีชื่อเสียงว่าเป็นมืออาชีพ”

เราก็ภูมิใจด้วยเช่นกัน

ต่อยอดอย่างต่อเนื่อง

  ความประทับใจในบรรยากาศเทศกาลอาหารไทย 2019 ยังไม่ทันจางหาย วันรุ่งขึ้นทางสถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก เดินหน้า โครงการการฝึกอบรมด้านการปรุงอาหาร การแกะสลักผักและผลไม้ และเทคนิกการนำเสนอและตกแต่งจานอาหาร ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารทันทีอย่างต่อเนื่อง (21 -24 กรกฎาคม)

กฤษฏิ์ เมฆเกรียงไกร กงสุลฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า

“เราเน้นที่ร้านอาหารไทยที่มีผู้ประกอบการที่มีเจ้าของเป็นคนไทยเป็นหลัก จัดหลักสูตรพิเศษเล็กๆ 5-10 คน เราเชื่อว่าการจัดกลุ่มเล็กๆจะช่วยพัฒนางานได้จริงๆ สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้จริง เพื่อให้ร้านมีชื่อเสียงมากยิ่งขึ้น โดยเรามีกำหนดอบรม 3 ร้าน ในนครมิวนิกและเมืองเนิร์นแบร์ก ที่มิวนิกมี 2 ร้านได้แก่ เรือนทองและรัชดา  ที่เนิร์นแบร์ก คือ สโรชา

เรามองว่าการเรียนแกะสลัก การปรุงอาหาร เทคนิคการนำเสนอ ถ้าเป็นกลุ่มใหญ่ๆอาจไม่ได้ประโยชน์แท้จริง เราเวียนจัดและขอเฉพาะกลุ่มเล็กเท่านั้นและเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องกับอาหารเท่านั้น เราไม่ได้เปิดกว้างแบบพัฒนาฝีมือ ทุกคนต้องอยู่ในวงการ

โครงการนี้เราปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ครัวไทยไปสู่ครัวโลก เรามองว่าการช่วยพัฒนาสมรรถนะและศักยภาพของพ่อครัวแม่ครัวไทยในต่างประเทศ จะเป็นจุดสำคัญและแรงผลักดันที่ทำให้ร้านอาหารไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้น มีการต่อยอดได้รับการยอมรับและมีชื่อเสียงมากขึ้น นี่คือเป้าหมายหลักในการทำโครงการนี้”

สำหรับหัวข้อในการจัดอบรมเกิดขึ้นจากการประชุมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างภาครัฐกับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยทำให้ได้ทราบถึงประเด็นปัญหาและความต้องการที่แท้จริง

“ เราแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ การปรุงอาหาร การแกะสลักผักและผลไม้ และเทคนิคการนำเสนอที่ร้านสโรชาขอเน้นเรื่องการแกะสลักผักผลไม้ เรือนทองสนใจทั้ง 3 ประเด็น รวมถึงให้ปรุงอาหารให้ชิมแล้วคอมเม้นต์เลย เราดีไซน์สูตรตามความต้องการของร้าน โดย อ.พงษ์อนันต์ ศิริแสงไพรวัลย์ เป็นผู้สอนให้ทั้งหมด ”

ส่วนกิจกรรมต่อเนื่องที่จะมีขึ้นในเดือนกันยายนนี้จะเป็นเรื่องการประชาสัมพันธ์ในสื่อออนไลน์

“เราพบว่าคนเยอรมันเมื่อต้องการรู้ข้อมูลอะไรนิยมเข้าไปดูตามเวบไซด์ ดังนั้นเวบไซด์จะเป็นตัวสะท้อนภาพของร้านว่าเป็นอย่างไร ทำให้มีผลต่อการตัดสินใจด้วย บางร้านอาจยังไม่มีศักยภาพหรือไม่ก็มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะที่นี่แค่มาปรึกษาแล้วก็มีค่าใช้จ่ายแล้ว

เราคิดว่าเรามาช่วยกันแชร์ข้อมูลดีกว่า บางครั้งคนไทยที่นี่อาจพูดภาษาเยอรมันได้ไม่แข็งมากเขาอาจสะดวกใจที่ได้พูดกับคนไทย โครงการนี้เราจะพาผู้เชี่ยวชาญมาจากประเทศไทยมาให้คำแนะนำ” กฤษฏิ์ กล่าวทิ้งท้าย

อาหารไทยสู่ครัวโลก อาหารไทยสู่ระดับเวิลด์คลาส ไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินฝันหากทุกภาคส่วนช่วยกันส่งเสริมและสนับสนุนด้วยความจริงใจ

ขอขอบคุณ : สถานกงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิก และ บริษัท การบินไทย (มหาชน)