'ปณิธาน' ชี้คนวงใน ระเบิดป่วนกรุงดิสเครดิตรบ.

'ปณิธาน' ชี้คนวงใน ระเบิดป่วนกรุงดิสเครดิตรบ.

วิเคราะห์เหตุระเบิดป่วนกรุงหลายจุด มีเป้าหมายดิสเครดิตรัฐบาล

เมื่อวันที่ 2 ส.ค.62 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อดีตที่ปรึกษา รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง วิเคราะห์ว่า เหตุระเบิดป่วนกรุงหลายจุดตั้งแต่เมื่อวาน (1 ส.ค.) จนถึงวันนี้ (2 ส.ค.) ค่อนข้างชัดเจนว่ามีเป้าหมายดิสเครดิตรัฐบาล และอาจใช้มือก่อการบางส่วนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

อาจารย์ปณิธาน กล่าวถึงภาพรวมของเหตุระเบิดว่า เหตุการณ์ที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวาน (1 ส.ค.) จับกุมผู้ต้องสงสัยได้ 2 คน เป็นคนจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (มีรายงานว่าผู้ต้องสงสัย 2 คน เป็นชายชาวจังหวัดนราธิวาส) โดยทั้งสองคนนี้ มีประวัติการก่อคดีอยู่ด้วย แต่ยังไม่ชัดเจนว่าอยู่กลุ่มไหน

ส่วนระเบิดที่หน้ากองบัญชาการกองทัพไทย กับด้านหน้าศูนย์ราชการ อาคารบี เป็นระเบิดคนละชนิดกัน ยังไม่ชัดว่าจะเชื่อมโยงกันหรือไม่ ส่วนระเบิดที่ใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ช่องนนทรี 2 ลูก เป็นชุดเดียวกัน มุ่งสร้างความตื่นตระหนก เหตุระเบิดทั้งหมดเหล่านี้คาดการณ์ได้ว่าอาจมีคนทำหลายคน คนวางแผนอาจไม่ใช่คนเดียว แต่มีเป้าหมายพื้นฐานชัดเจนตรงกันว่า เป็นเป้าหน่วยงานของรัฐ หน่วยงานด้านความมั่นคง ซึ่งน่าจะต้องการลดความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นของหน่วยงานและรัฐบาล ส่วนอีกเป้าหมายหนึ่งคือ การวางระเบิดใกล้เคียงกับระบบคมนาคมขนส่ง มุ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ปลอดภัย ทำให้ตื่นตระหนก

อาจารย์ปณิธาน ชี้ว่า ทั้ง 2 เป้าหมายนี้จะเป็นแรงสะท้อนไปยังรัฐบาล ซึ่งอยู่ในสภาพที่ยังไม่ได้ตั้งตัว 100% เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็จะเกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลทันที ยังโชคดีที่ควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 2 คนแรกเอาไว้ได้ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และเชื่อได้ว่าเป็นการสร้างสถานกาณ์เพื่อลดความน่าเชื่อถือทางการเมือง

นอกจากนั้น คนที่วางแผน สั่งการ ยังเป็นคนภายใน อาจจะเรียกว่า "คนวงใน" ก็ได้ เพราะน่าจะรู้กลไกบางอย่าง เช่น การส่งมอบพื้นที่และภารกิจของกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย หรือ กกล.รส. ให้กับตำรวจ ทำให้เกิดช่องว่าง เพราะการถอนกำลัง กกล.รส. และยุติการใช้ ม.44 ทำให้ต้องเลิกประกบ เลิกกดดันคนมีศักยภาพ หรือกลุ่มฮาร์ดคอร์ ขณะที่ตำรวจอาจทำงานไม่เหมือนทหาร หรืออาจจะยังทำไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ และตำรวจจำนวนมากก็ถูกดึงไปทำงานดูแลความสงบเรียบร้อยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนด้วย

ทั้งหมดนี้ เชื่อได้ว่าการก่อเหตุมีการเตรียมการไว้ก่อนนานพอสมควร มีการเทสติ้งไว้แล้ว เตรียมคนพร้อม เมื่อเจอช่องว่าง โดยเฉพาะน่าจะรู้เรื่องภายในของรัฐบาล ทั้งการส่งมอบภารกิจ กกล.รส. การบังคับบัญชาก็เปลี่ยนจาก รองนายกฯ เป็น นายกฯ เรียกว่ามีทั้งการถ่ายโอนกำลัง และสลับสายการบังคับบัญชา ที่สำคัญที่สุดยังเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วย แม้ นายกรัฐมนตรี รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะยังอยู่ครบ แต่สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม

อาจารย์ปณิธาน สรุปทิ้งท้ายว่า หากดูรูปการณ์ภายนอก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นคือ พื้นฐานของการก่อความไม่สงบ เรียกว่าเป็นการก่อเหตุตามตำรา มุ่งสร้างความตื่นตระหนก และหวังผลสะเทือนไปยังรัฐบาลโดยตรง ทำให้รัฐบาลต้องรับภาระหนักทันที แทนที่จะได้บริหารบ้านเมือง ก็ต้องมาพะวงเรื่องนี้ ถ้าจับกุมผู้ก่อเหตุไม่ได้จะยิ่งหนัก แต่ครั้งนี้ยังโชคดีที่จับกุมได้บางส่วน แต่จุดเกิดเหตุและแผนการก่อเหตุ สะท้อนว่าคนวางแผนรู้กลไกภายในเป็นอยางดี รู้จุดอ่อน จุดแข็งของงานความมั่นคง ก่อนกำหนดจังหวะเวลาก่อเหตุอย่างแม่นยำ