ส่องอนาคตเจรจาการค้า‘สหรัฐ-จีน’

ส่องอนาคตเจรจาการค้า‘สหรัฐ-จีน’

ปิดฉากไปอย่างเงียบๆ สำหรับการเจรจาการค้าระหว่างตัวแทนสหรัฐกับจีนที่นครเซี่ยงไฮ้ ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าจะมาหารือกันใหม่ในเดือน ก.ย. โดยสองมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกเก็บภาษีตอบโต้กันไปแล้วกว่า 3.6 แสนล้านดอลลาร์

เหล่านักวิเคราะห์มองว่าทั้งสองฝ่ายยังยากจะหาจุดประสานความแตกต่างที่ส่งผลกระทบต่อตลาดโลก และที่ยิ่งกว่านั้นคือสัมพันธ์สหรัฐ-จีนร้าวฉานลงทุกที

การเจรจากันที่เซี่ยงไฮ้ เมืองหลวงการเงินแดนมังกรถือเป็นการประชุมแบบพบหน้าค่าตากันครั้งแรก นับตั้งแต่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เห็นชอบให้รื้อฟื้นการเจรจากันใหม่เมื่อเดือน มิ.ย. หลังจากล่มไปเมื่อเดือน พ.ค. ที่สหรัฐกล่าวหาจีนว่าไม่ทำตามที่พูด

จริงๆ แล้วก็แทบไม่มีใครคาดหวังกับการประชุมในสัปดาห์นี้ ที่กินเวลาสั้นมาก แถมประธานาธิบดีทรัมป์ยังรัวทวีตข้อความกล่าวหาจีนว่า ตกลงกันไว้อย่างหนึ่งแต่ทำอีกอย่างหนึ่ง แม้การประชุมเป็นไปอย่างอบอุ่น ตัวแทนทั้งสองฝ่ายบอกว่าพูดคุยกันอย่างสร้างสรรค์ แต่นอกเหนือจากคำสัญญากว้างๆ ที่จีนบอกว่าจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐแล้ว ก็ไม่มีการประกาศข้อตกลงใหม่ ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบคุยกันอีกครั้งในเดือน ก.ย.ที่กรุงวอชิงตัน

ทรัมป์นั้นพยายามบีบให้จีนเปลี่ยนพื้นฐานนโยบายการค้า ที่เขามองว่าทำให้สหรัฐเสียเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมมาหลายสิบปีแล้ว

ข้อเรียกร้องหลักๆ ที่ทรัมป์ต้องการคือ ต้องการให้สหรัฐเข้าถึงตลาดจีนมากขึ้น ปฏิรูปตลาดจากที่เคยเอื้อประโยชน์แก่บริษัทจีนอย่างมากให้มีความเป็นธรรมากขึ้น และรัฐบาลปักกิ่งต้องผ่อนคลายการควบคุมลง

แต่อย่าลืมว่านโยบายเหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจจีนแข็งแกร่งจนน่าตกตะลึง จึงเป็นไปไม่ได้ว่าปักกิ่งจะยอมอ่อนข้อให้วอชิงตัน

ก่อนที่การเจรจาล่มในเดือน พ.ค.ดูเหมือนว่า สองประเทศใกล้จะตกลงกันได้แล้ว แต่เมื่อไม่เป็นไปตามคาด สงครามการค้าก็บานปลายกลายเป็นการปะทะกันระหว่างสองมุมมอง

“สหรัฐกับจีนไม่ใช่แค่ทำเทรดวอร์หรือเทควอร์กันเท่านั้น ตอนนี้กลายเป็นการเผชิญหน้ากันเรื่องอุดมการณ์ ระบบค่านิยม และคุณธรรมไปแล้ว”ลาร์รี อ่องนักวิเคราะห์อาวุโสจากบริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยง “ชิโนอินไซเดอร์” ให้ความเห็น

แต่จะว่าไปแล้วผู้นำทั้งสองต่างก็มีเหตุผลทางการเมืองที่ไม่ยอมถอย

สำหรับสีแล้วรัฐบาลของเขาจำเป็นต้องรักษาเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไปได้ พร้อมๆ กับตบตาปฏิรูปอุตสาหกรรมของรัฐที่ไร้ประสิทธิภาพ

ส่วนทรัมป์ก็ต้องเจอการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้าเขาจำเป็นต้องนำข้อมูลเศรษฐกิจแข็งแกร่งของสหรัฐไปหาเสียง เพื่อเป็นหลักฐานว่า การทำสงครามการค้ากับจีน ตนเป็นฝ่ายคว้าชัยชนะ

“จีนยินดียิ่งที่จะถ่วงเวลาเจรจาออกไปถึงปี 2563 ประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยิ่งเสี่ยงมาก”สตีเฟน เคิร์ชเนอร์ผู้อำนวยการโครงการจากศูนย์สหรัฐศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ให้ความเห็น

ส่วนจุดจบสงครามการค้าจะเป็นอย่างไร ตอนนี้ก็ยังตอบไม่ได้ แม้หลายคนรวมทั้งสภาธุรกิจสหรัฐ-จีนมองว่าการที่สหรัฐ-จีนกลับมาเจรจากันอีกครั้ง และจีนซื้อสินค้าเกษตรสหรัฐเพิ่มถือเป็นสัญญาณบวก แต่คำตอบในระยะยาวยังไม่ชัดเจน

สงครามการค้าไม่ใช่ประเด็นเศรษฐกิจอีกต่อไป แต่กลายเป็นเพียงแค่แนวรบหนึ่งในการเผชิญหน้ากันในหลายๆเรื่อง

เคิร์ชเนอร์เชื่อว่า การเจรจาในอนาคตน่าจะล้มเหลว ต่างฝ่ายต่างตั้งอุปสรรคการค้าเพิ่มขึ้นเป็นการถาวร

แต่อดัม ไนนักวิจัยด้านจีนจากมหาวิทยาลัยแมคไกวร์ในซิดนีย์ เชื่อว่าแรงกดดันทางเศรษฐกิจอาจเปิดโอกาสให้ทั้งสองดีลกันได้

“สงครามการค้าจะดำเนินต่อไป พร้อมๆ กับการเผชิญหน้ากันในเรื่องอื่นๆ ระหว่างสหรัฐกับจีน จนถึงจุดที่ทั้งสองฝ่ายเจ็บหนัก แล้วบีบให้ทั้งคู่กลับสู่โต๊ะเจรจา”