บาทอ่อนหลังเฟดลดดอกเบี้ย คาดเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนมากขึ้น

บาทอ่อนหลังเฟดลดดอกเบี้ย คาดเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนมากขึ้น

"กรุงศรี" เผยเงินบาทอ่อนค่าหลังเฟดลดดอกเบี้ยตามคาด มองเงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนมากขึ้น

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีความเห็นต่อผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% สู่กรอบ 2.00-2.25% ตามความคาดหมายของตลาด นับเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 10 ปี ด้วยเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ 8-2 โดยผู้คัดค้านสองรายต้องการให้เฟดคงดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าและดอลลาร์แข็งค่า ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงเนื่องจากนักลงทุนผิดหวังที่เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับแนวโน้มการลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง

ในช่วงเปิดตลาดเช้านี้ เงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 30.90 ขณะที่เงินดอลลาร์แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 ปีเมื่อเทียบกับตระกร้าสกุลเงินสำคัญ ทั้งนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ร่วงลง หลังจากที่เฟดไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาทองคำลดลง ส่วนเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวในลักษณะแบนราบ ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมวันที่ 30-31 กรกฎาคม เฟดระบุถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และคู่ค้า รวมถึงเงินเฟ้อที่ระดับต่ำ แม้ตลาดแรงงานและการใช้จ่ายผู้บริโภคสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง แต่เฟดตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับรายจ่ายภาคธุรกิจที่แผ่วลง นอกจากนี้ เฟดจะยุติการปรับลดขนาดการถือครองพันธบัตรให้เร็วขึ้นกว่าเดิม2 เดือนเป็นวันที่ 1 สิงหาคม

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ประเด็นสำคัญในรอบนี้ คือ ความเห็นจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ซึ่งมองว่าการลดดอกเบี้ยในครั้งนี้เป็นเพียง Mid-cycle Adjustment หรือ การปรับนโยบายในช่วงกลางวัฎจักร ทำให้ตลาดตีความว่าไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวงจรลดดอกเบี้ยที่ใช้เป็นเวลายาวนาน อย่างไรก็ตาม ประธานเฟดปฏิเสธเช่นกันว่าการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเป็นการปรับลดเพียงครั้งเดียว โดยเราประเมินว่า เงินดอลลาร์จะมีแรงหนุนเข้ามาช่วงสั้นๆ และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายจะผันผวนสูงขึ้นจากท่าทีแบ่งรับแบ่งสู้ล่าสุดของเฟด แต่การคาดการณ์ของเราที่ว่าเฟดมีแนวโน้มปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในปีนี้และอีก 1 ครั้งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2563 จะยังคงจำกัดขาขึ้นของค่าเงินดอลลาร์ สำหรับปัจจัยชี้นำถัดไปจะอยู่ที่ข้อมูลการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในวันที่ 2 สิงหาคม รวมถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทยในสัปดาห์หน้า