โรคไขกระดูกฝ่อ อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลว

โรคไขกระดูกฝ่อ อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลว

กรมการแพทย์เผยโรคไขกระดูกฝ่อ อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลว

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคไขกระดูกฝ่อเป็นโรคที่ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ ทำให้ผู้ป่วยเกิดปัญหาโลหิตจาง เลือดออก จากเกล็ดเลือดต่ำและติดเชื้อโรคง่ายจากเม็ดเลือดขาวต่ำ ในประเทศไทยพบอัตราการเกิด 4 รายต่อประชากร 1 ล้านคนต่อปี พบบ่อยอายุ 15 -25 ปี และมากกว่า 60 ปี โดยเพศชายและเพศหญิงพบได้ในอัตราที่เท่าๆกัน โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรค แต่อาจเกิดได้จากโรคทางพันธุกรรม หรือสาเหตุจากปัจจัยที่เกิดภายหลัง ได้แก่ การรับรังสีในขนาดสูง ยาเคมีบำบัด สารเบนซินและยาบางชนิด เช่น ยาแก้ข้ออักเสบ ยากันชัก ยาฆ่าเชื้อบางชนิด ยารักษาไทรอยด์เป็นพิษ และภาวะไวรัสตับอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการซีดเนื่องจากไขกระดูกจะสร้างเม็ดเลือดแดงลดลง ถ้าเม็ดเลือดแดงในร่างกายต่ำมากจะมีอาการอ่อนเพลีย หอบและเหนื่อยง่าย หากซีดมากอาจทำให้มีภาวะหัวใจล้มเหลวได้ การสร้างเกล็ดเลือดลดลงจะทำให้ผู้ป่วยมีจุดเลือดออกตามตัว มีเลือดออกในช่องปาก ในเพศหญิงอาจมีประจำเดือนมากกว่าปกติ นอกจากนี้หากผู้ป่วยมีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายโดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา

                                           โรคไขกระดูกฝ่อ อันตรายถึงขั้นหัวใจล้มเหลว

นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมะเร็งชลบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบเม็ดเลือดขาวเม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือดลดลงต่ำมาก การทำงานของไขกระดูกพบเซลล์ปกติของไขกระดูกลดลงมาก มีเซลล์ไขมัน การรักษาโดยการให้เลือดและรักษาแบบเฉพาะเจาะจง โดยให้เม็ดเลือดแดงในผู้ป่วยที่มีภาวะซีดร่วมกับมีอาการเหนื่อยจากโรคโลหิตจาง และให้เกล็ดเลือด ถ้ามีเลือดออกร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำกว่า 10,000/L สำหรับการรักษาแบบเฉพาะเจาะจง การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิต จะเลือกวิธีนี้ในกรณีที่โรคมีความรุนแรงและผู้ป่วยอายุน้อยกว่า 40 ปี นอกจากนี้อาจให้ยากดภูมิคุ้มกัน ในผู้ป่วยที่โรครุนแรงไม่สามารถปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดโลหิตได้ หรือให้ฮอร์โมนเพศชายในผู้ป่วยที่เป็นโรคชนิดไม่รุนแรง