KUMWEL ราคา IPO 1.10 บาท

KUMWEL ราคา IPO 1.10 บาท

KUMWEL ผู้ประกอบธุรกิจระบบป้องกันฟ้าผ่าแบบครบวงจร

บริษัท คัมเวล คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) “KUMWEL” ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับระบบต่อลงดิน ระบบป้องกันฟ้าผ่า ระบบป้องกันเสิร์จ ระบบตรวจจับและเตือนภัยฟ้าผ่าครบวงจรตามมาตรฐานสากลภายใต้ตราสินค้า “Kumwell” บริษัทมีลูกค้าอยู่ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคการไฟฟ้า ภาคการคมนาคม ภาคอุตสาหกรรม และภาคสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น ซึ่งบริษัทมีจุดเด่นที่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าในระดับสากลได้  ส่งผลให้บริษัทสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ไปในหลายภูมิภาคทั่วโลก  การเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯมีวัตถุประสงค์เพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโรงงานและปรับปรุงอาคารเพื่อเพิ่มกำลังการผลิต วิจัยและพัฒนาระบบและสินค้ารุ่นใหม่ ปรับปรุงและพัฒนาห้องทดสอบผลิตภัณฑ์ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ   ฝ่ายวิจัยประเมินราคาเหมาะสมอยู่ที่ราว 1.4 บาท

ประเด็นสำคัญในการลงทุน

ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์มีศักยภาพเติบโตตามกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและก่อสร้างเป็นหลัก : KUMWEL เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับต่อลงดินเพื่อป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่าซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฏหมายบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ส่งผลให้ธุรกิจมีจำนวนคู่แข่งน้อยราย บริษัทใช้วิธีการประชาสัมพันธ์สินค้าในรูปแบบต่างๆ ในการจัดทำคู่มือ การเข้าร่วมงานแสดงนวัตกรรม รวมถึงการจัดงานให้ความรู้แก่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เป็นต้น สินค้าของบริษัทได้อ้างอิงมาตรฐานที่รับรองจากสถาบันหลากหลายประเทศในสหรัฐฯ เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ และเกาหลีใต้  ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ได้รับการยอมรับเป็นวงกว้าง โดยบริษัทสามารถสร้างยอดขายได้ในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งหากพิจารณาในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าที่มีสัดส่วนรายได้ในปี 61 ราว 27% ของรายได้รวม คาดจะสามารถเติบโตได้ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ที่มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นราว 2.8% ต่อปี รวมถึงอุตสาหกรรมการก่อสร้างที่มีสัดส่วนรายได้ในปี 61 ราว 29% โดยคาดจะเติบโตตามการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่คาดจะเติบโตราว 8-12% และการลงทุนก่อสร้างของภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตราว 3-5% นอกจากนี้บริษัทยังสามารถส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศได้มีสัดส่วน 22%  ช่วยหนุนการเติบโตของยอดขายในอนาคต

ช่วงปี 2559-2561 รายได้จากการขายผลิตภัณฑ์มีอัตราเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 7% ปี 2559 - 2561 บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 410 ล้านบาท 433 ล้านบาท และ 470 ล้านบาท ตามลำดับ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 7.42% ต่อปีจากการขยายตลาดของคู่ค้า และการจัดสัมมนาให้ลูกค้าเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันภัยจากฟ้าผ่า ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นในช่วงปี 2559-2561 เท่ากับ 44.8%  43.22% และ 39.3% ตามลำดับ ลดลงเนื่องจากราคาวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น และมีอัตราค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ 22.7%  24.8% และ 30% ตามลำดับจากค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรสุทธิในช่วงปี 2559 - 2561 ปรับตัวลดลงเหลือ 18.7% 15.3% และ7.2% ตามลำดับ โดยกำไรสุทธิในช่วงปี 2559-2561 เท่ากับ 76.75 ล้านบาท 66.19 ล้านบาทและ 33.78 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตราลดลงเฉลี่ย 24% ต่อปี

คาดกำไรสุทธิปี 2562 พลิกเติบโต 62% : ประมาณการสำหรับปี 2562 ฝ่ายวิจัยคาดยอดขายจะเติบโตราว 12% เป็น 518 ล้านบาท ด้วยสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นเท่ากับ 36.7%  และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อยอดขาย 24.4% จากระดับ 30% ในปี 2561 เนื่องจากฐานรายได้ที่เติบโตส่งผลให้สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อยอดขายส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ลดลงจากปีก่อนหน้า ส่งผลให้ฝ่ายวิจัยคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2562 อยู่ที่ราว 54.6 ล้านบาทพลิกเติบโต  62% จากหดตัว 49% ในปี 2561 คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 10.5%   สำหรับงวดไตรมาสแรกปี 2562 บริษัทมีกำไรสุทธิ 9 ล้านบาท ลดลง 40% เนื่องจากมีรายได้จากการขายและบริการ 109 ล้านบาท ลดลง 3% อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 36.6% จาก 41.4% ใน 1Q61 และมีอัตรากำไรสุทธิลดลงเหลือ 8.2% จาก 13.4% ใน 1Q61 เนื่องจากรายได้จากการขายสินค้าและบริการลดลง แต่มีค่าแรงทางตรงเพิ่มสูงขึ้นจากการปรับขึ้นเงินเดือนของบุคลากรฝ่ายผลิต และค่าเผื่อสินค้าล้าสมัยที่เพิ่มขึ้นจากงวดก่อนหน้า

การประเมินมูลค่าหุ้น : ในการประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธี PER ซึ่งอิง Prospect PER ที่ระดับ 11 เท่าซึ่งต่ำกว่า PER เฉลี่ยของหุ้นกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมในตลาด mai ซึ่งซื้อขายที่ระดับ 23 เท่า  และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ในหมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักรในตลาด SET ซึ่งซื้อขายที่ระดับ 64 เท่า  แต่สูงกว่าหุ้นในตลาดที่ผลิตสินค้าใกล้เคียงกัน (ASEFA, FTE, HARN มีค่าเฉลี่ย PE 9.8 เท่า) จากการประเมินกำไรต่อหุ้นแบบ Fully Diluted สำหรับปี 2562 ได้เท่ากับ 0.127 บาทต่อหุ้น  จึงคำนวณได้ราคาเหมาะสมอยู่ที่ราว 1.4 บาท

ปัจจัยเสี่ยง

        i) ความเสี่ยงจากการไม่มีข้อกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์  ทำให้ผู้ประกอบการรายอื่นมีโอกาส ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน เพื่อลดต้นทุนและสามารถกำหนดราคาต่ำเพื่อแข่งขันในตลาดได้

       ii) ความเสี่ยงจากการเกิดอัคคีภัยจากวัตถุดิบบางรายการเป็นวัตถุไวไฟ

      iii) ความเสี่ยงจากการไม่ได้รับการต่อสัญญาเช่าที่ดินซึ่งมีระยะสัญญาเช่า 15 ปี ปัจจุบันเหลือระยะเวลาสัญญาเช่า 11-13 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทสัญญา

      iv) ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในการขายสินค้าไปยังต่างประเทศรับชำระเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศและจ่ายชำระเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ