สื่อนอกเตือนบาทแข็งค่าน่าห่วง

สื่อนอกเตือนบาทแข็งค่าน่าห่วง

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซี รายงานว่า ปีนี้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ และแข็งค่ามากกว่าสกุลเงินในประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ

เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานวานนี้ (31 ก.ค.) อ้างความเห็นนักวิเคราะห์ ระบุ การที่เงินบาทแข็งค่าในช่วงที่เศรษฐกิจภายในประเทศอ่อนแรง นับเป็นเรื่องที่น่ากังวล

ตั้งแต่ต้นปีเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ หากคำนวณเป็นรายปีตัวเลขสูงกว่านั้นที่เกือบ 8% แม้สกุลเงินอื่นๆ ในประเทศตลาดเกิดใหม่เอเชียจะแข็งค่าขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ก็ยังไม่เท่าเงินบาท เช่น รูเปี๊ยะห์อินโดนีเซียและเปโซฟิลิปปินส์ ปีนี้แข็งขึ้นกว่า 3%

นายกาเรต ลีเธอร์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำภูมิภาคเอเชีย จากบริษัทวิจัยแคปิตอล อีโคโนมิกส์ เคยรายงานไว้เมื่อไม่กี่วันก่อนว่า ตอนนี้ผู้กำหนดนโยบายและผู้ส่งออกในไทยต้องกังวลเรื่องบาทแข็งอีกครั้ง

“แม้ช่วงไม่กี่เดือนหลังสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ส่วนใหญ่จะแข็งค่าเมื่อเทียบกันดอลลาร์กันทั้งนั้น แต่เงินบาทแข็งมากที่สุด”

ทั้งนี้ เป็นผลจากไทยได้เปรียบดุลการค้ามาก ประกอบกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้นโยบายสายเหยี่ยว รวมถึงปัจจัยอื่นๆ

“บาทแข็งยิ่งทำให้เศรษฐกิจแย่เพราะทำให้การส่งออกเจ็บหนักขึ้นอีก” นายประกาศ ศักปาล นักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเชีย ของธนาคารไอเอ็นจีกล่าวกับซีเอ็นบีซี

การที่บาทแข็งทำให้สินค้าส่งออกของไทยแพงขึ้น ตลาดโลกสนใจซื้อน้อยลง

เมื่อวันจันทร์ (29 ก.ค.) นักวิเคราะห์จากธนาคารดีบีเอสของสิงคโปร์ รายงานว่า บาทแข็งถือเป็นข่าวร้ายต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้าของไทยผลการศึกษาของ ธปท.ก็เคยระบุว่า ทุกๆ 1% ที่บาทแข็งเทียบกับดอลลาร์ สินค้าส่งออกของไทยจะแพงขึ้น 0.3% เมื่อคิดเป็นดอลลาร์

พร้อมกันนั้น การส่งออกของไทยก็หดตัวไปเรียบร้อยแล้ว เดือน พ.ค.ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน 5.79% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 แย่ยิ่งกว่า 3.6% ที่รอยเตอร์สำรวจความคิดเห็นนักวิเคราะห์เอาไว้

เมื่อวันอังคาร (30 ก.ค.) ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทยประจำเดือน มิ.ย.ก็ออกมาในทำนองเดียวกัน ลดลง 5.54% จาก มิ.ย.2561 แย่ยิ่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะลดลง 3.15%

“เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มการค้าอ่อนแรงลงเหล่านี้ ผสานกับแนวโน้มความท้าทายเศรษฐกิจภูมิภาคในอนาคต เงินบาทแข็งค่ามาไม่ถูกเวลา” นักวิเคราะห์ดีบีเอสว่าเอาไว้ อ้างถึงการนำเข้าส่งออกซบเซา และการท่องเที่ยวลด

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวด้วยว่า ธปท.เองก็อาจยอมรับแรงกดดันนี้ แล้วลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อคุมค่าเงินบาท กระนั้นพวกเขาก็ไม่มั่นใจนักว่า ทำแบบนี้แล้วได้ผล

“ธปท.อาจพิจารณาลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยลดความน่าสนใจในผลตอบแทนเงินบาท แต่นี่ก็ไม่ใช่ยาครอบจักรวาล” นักวิเคราะห์จากดีบีเอสตั้งข้อสังเกต พร้อมเสริมว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ก็แค่หักล้างกับที่ ธปท.ขึ้นไปเมื่อเดือน ธ.ค.2561

ศักปาล จากไอเอ็นจีก็มีความเห็นคล้ายๆ กันว่า ลดดอกเบี้ยก็ช่วยได้ไม่มากนัก

“แม้การลดดอกเบี้ยจะช่วยลดแรงกดดันบาทแข็งได้บ้าง แต่เงินบาทก็ไม่มีทางหลุดจากตำแหน่ง สกุลเงินที่แข็งค่าที่สุดได้เลย”