'ศักดิ์สยาม' ลั่นเดินหน้ารถไฟฟ้า 15 บาท

'ศักดิ์สยาม' ลั่นเดินหน้ารถไฟฟ้า 15 บาท

“ศักดิ์สยาม” ยืนยันรถไฟฟ้า 15 บาทจะทำให้ได้ เร่งหน่วยงานทำการศึกษาแนวทาง คลอดมาตรการภายใน 3 เดือนนี้ พร้อมระบุนโยบายเพิ่มความเร็วขับขี่ 120 กม./ชม. แก้ปัญหารถติด

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.62 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ความคืบหน้าในการปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าเหลือ 15 บาท ขอย้ำว่านโยบายนี้ผมไม่ได้เป็นคนพูด แต่ผมขอยันยันว่าจะทำให้ได้ โดยที่จะต้องไม่กระทบต่อภาระงบประมาณของรัฐบาล เบื้องต้นคาดว่าจะเก็บค่าโดยสาร 15 บาทต่อเส้นทาง อาทิ สายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – เตาปูน ไม่ใช่ตลอดการเดินทางเชื่อมหลายโครงการรถไฟฟ้า เพราะทราบว่าแต่ละโครงการมีเอกชนหลายส่วนดูแล และมีสัมปทาน โดยขณะนี้ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาแนวทาง และให้นำมาตรการมาเสนอภายใน 3 เดือน

ส่วนกรณีที่มีกระแสข่าวว่าอาจจะใช้วิธีการไปเจรจากับเอกชนเจ้าของสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อขอให้ปรับลดราคาโดยแลกกับผลประโยชน์จากรัฐ เช่น การขยายระยะเวลาสัมปทาน ขณะนี้ยังไม่อยากพูด แต่ยืนยันว่าตนมีวิธีไว้แล้ว แต่ก็ต้องรอผลการศึกษา และมาตรการที่แต่ละหน่วยงานที่เสนอมาก่อน โดยภายใน 3 เดือนนี้จะได้ข้อสรุปแน่นอน

ขณะที่นโยบายแก้ปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน ที่ก่อนหน้านี้ตนมีแนวคิดจะปรับแก้กฎกระทรวงฯ เพิ่มความเร็วบนท้องถนนให้สูงสุดไม่เกิน 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บนถนนที่มี 4 ช่องจราจร ขณะนี้มีแนวคิดเพิ่มเติม โดยจะเสนอให้มีการลงโทษผู้ขับขี่ที่ ใช้เลนขวาสุด แต่มีการขับรถด้วยความเร็วต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงอาจจะถูกจับปรับ เนื่องจากปัจจุบันพบว่ามีรถจำนวนมากขับช้า แต่ใช้เลนขวา ทำให้เกิดปัญหารถติดเป็นอย่างมาก

ส่วนการปรับเพิ่มความเร็วรถเป็น 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขอชี้แจงว่าจะบังคับใช้เฉพาะรถยนต์ส่วนบุคคลเท่านั้น ขณะที่รถโดยสารสาธารณะทั่วไปจะต้องปฏิบัติตามระเบียบที่กำหนดไว้ตามเดิม โดยปัจจุบันได้สั่งการเพิ่มให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมทางหลวง (ทล.) และกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไปเตรียมจัดทำแถบชะลอความเร็วบนพื้นถนน เพื่อเตือนผู้ขับขี่ให้ลดความเร็วในช่วงโค้ง หรือช่วงที่มีทางแยก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ จะมีการลงนามความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยเกษตรกรผู้ปลูกสวนยาง บูรณาการทุกหน่วยงานก่อสร้างทั้งหมด ปรับรูปแบบใช้ยางพาราเข้ามาเป็นวัสดุให้เพิ่มมากขึ้น เช่น แบริเออร์ หลักกันโค้ง รวมทั้งไปความเป็นไปได้ในการผสมเป็นไม้หมอนรถไฟ ทั้งนี้การพัฒนาโปรดักซ์ต่างๆ จะมอบให้กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้พัฒนา เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับยางพารา สร้างรายได้เกษตรกรโดยตรง ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง