ชี้ 30% ของผู้สูงอายุยังยากจน สุขภาพไม่ดี แนะสร้างเครือข่ายเตรียมกาย-ใจ-การออม

ชี้ 30% ของผู้สูงอายุยังยากจน สุขภาพไม่ดี แนะสร้างเครือข่ายเตรียมกาย-ใจ-การออม

"ปลัด พม." ชี้ ผู้สูงอายุ 30% ยังยากจน ไม่มีการออม สุขภาพไม่ดี ฆ่าตัวตาย 801 รายในปี 2560 จากการเจ็บป่วย ซึมเศร้า แนะทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันยกระดับสังคมสูงวัย

วันนี้ (31 กรกฎาคม) นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวในงานสรุปผลการดำเนินโครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” ว่า ปัจจุบัน สังคมมีการรับรู้และตื่นตัวในเรื่องสังคมสูงวัย รวมถึงยุทธศาสตร์ชาติ ก็ให้ความสำคัญในการเตรียมสู่สังคมสูงวัยของไทย โดยออกมาตรการขับเคลื่อนระเบียบวาระแห่งชาติ เรื่อง “สังคมผู้สูงอายุ” ใน 6 ความยั่งยืน (Sustainable) 4 การเปลี่ยนแปลง (Change) ซึ่งกำหนดให้ พม.เป็นเจ้าภาพร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข รวม 6 กระทรวง

“ทั้งนี้ จากการสำรวจ พม.โพล ร่วมกับ นิด้า ในมิติสุขภาวะทางกายและใจของผู้สูงอายุ เดือนกรกฎาคม พบว่า ผู้สูงอายุมีความสุขที่ระดับ 6.6 (คะแนนเต็ม10) ซึ่งถือว่ามีความสุขพอสมควร แต่ก็ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่มีความสุข โดยจากผลสำรวจระบุว่า ผู้สูงอายุถูกทำร้ายจิตใจ 35.04% ถูกทอดทิ้ง 30.98% ถูกทำร้ายร่างกาย 23.5% โดยผู้กระทำความรุนแรง 52% เป็นบุคคลใกล้ชิดที่อยู่ในครอบครัว สอดคล้องกับข้อมูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุสถิติผู้สูงอายุไทยที่ฆ่าตัวตายปี 2560 มี 801 ราย คิดเป็น 20.3% ของผู้ที่ฆ่าตัวตายทั้งหมด สาเหตุมาจากความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด เจ็บป่วยเรื้อรังและโรคซึมเศร้า”

10309363128327

โดยสิ่งที่ผู้สูงวัยต้องการจากครอบครัวมากที่สุด 39% คือ การดูแลเอาใจใส่ ทั้งด้านการเงิน พาไปหาหมอ ขณะที่ 38% ต้องการการพูดคุย บอกรัก ถามไถ่ทุกข์สุข และ 22% ต้องการการสัมผัส กอด หอม จูงมือ หรือบีบนวดผ่อนคลาย สำหรับรูปแบบความสุขของผู้สูงอายุ พบว่า 57% คิดว่าเป็นความสุขทางจิตใจ และอารมณ์ การได้รับการดูแลเอาใจใส่ 25% มีสุขภาพที่ดี แข็งแรง 10% มีความสุขจากการที่ได้ทำประโยชน์ และเป็นที่ต้องการของสังคม และ 8% มีเงินจับจ่ายใช้สอย

นายปรเมธี กล่าวเพิ่มเติมว่า จำนวนผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่คาดว่าจะมีจำนวน 13 ล้านคน ในปี 2564 หรือ 20% ของประชากร และจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรในอีก 10 ปีข้างหน้า นอกจากนี้จะมีคนอายุเกิน 100 ปี ราว 2 หมื่นกว่าคน เราจะดูแลได้ทั่วถือหรือไม่ เรามีความพร้อมหรือไม่ แม้ 5 ปีที่ผ่านมา เรื่องสังคมสูงวัย จะเป็นเรื่องระดับชาติ มีความเคลื่อนไหวทางสังคมเยอะ แต่สถิติ 30% ของผู้สูงอายุยังยากจน ไม่มีการออม สุขภาพไม่ดี

“ดังนั้น ควรทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกมีความมั่นคงและมีความสุขเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลทำคนเดียวไม่ได้ การที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังต้องได้รับความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้ เพื่อดูแลตัวเองได้ รู้เท่าทันเทคโนโลยี สำหรับคนที่ต้องมีคนดูแล ต้องทำการฝึกอบรม สร้างเครือข่ายให้ชุมชน เอกชน ที่ต้องการทำประโยชน์ต่อสังคมเข้ามาดูแลผู้สูงอายุ ขณะที่กลุ่มยากจน ดูแลตัวเองไม่ได้ ต้องเข้ามาอยู่ในความดูแลของภาครัฐ” นายปรเมธี กล่าว

ด้าน มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย และ มูลนิธิคีนันแห่งเอเชีย ซึ่งเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัย จึงได้พัฒนา โครงการ “ไฟเซอร์ รู้-เฒ่า(เท่า)-ทัน-สุข” โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เตรียมความพร้อมประชากรวัยก่อนสูงอายุ และสูงอายุ ภายใต้แนวคิด กายฟิต จิตดี มีออม นำร่อง กรุงเทพมหานคร (เขตคลองเตย และ เขตบางขุนเทียน) และ จ.อุบลราชธานี (อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ) ด้วยระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี (พ.ศ. 2559-2562) ผ่านการทำงานที่เชื่อมโยงทั้งระดับประเทศและชุมชน ดึง 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ครู บุคลากรสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับท้องถิ่น เข้าร่วม

นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ มูลนิธิไฟเซอร์ประเทศไทย กล่าวว่า ภารกิจหลักของโครงการ คือ พัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้าง “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” (Change Agents) ที่ได้รับความรู้และทักษะจำเป็นเกี่ยวข้องกับสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความมั่นคงทางการเงิน ผ่านการอบรมและกิจกรรมในหัวข้อต่างๆ ได้แก่ โรคติดต่อเรื้อรัง โภชนาการ สุขภาพจิต ความตระหนักรู้ทางการเงิน การจัดสภาพแวดล้อมเอื้อต่อผู้สูงอายุ สิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ชุมชน เป็นต้น

ด้าน นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ รองประธานกรรมการและประธานอำนวยการ มูลนิธิคีนันแห่งเอเซีย กล่าวเสริมว่า จุดมุ่งหมายของการสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ที่มีพฤติกรรมเชิงบวกด้านสุขภาพ การเงิน และเป็นต้นแบบให้ชุมชนที่ตนอยู่ร่วม เพื่อพัฒนา ปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชน รวมถึงเตรียมความพร้อมสังคมสูงวัย ผ่านการดำเนินงาน 4 องค์ประกอบหลัก คือ สร้างความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาศักยภาพ การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ และการติดตามประเมินผล

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการใน 3 ปีที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือกับ 14 หน่วยงาน ในการเข้าร่วมเป็นที่ปรึกษา อาทิ พม., กรมกิจการผู้สูงอายุ, คณะแพทย์ฯ รพ.รามาฯ, มหาวิทยาลัยมหิดล, สำนักอนามัย กทม., สำนักงานประกันสังคม และสำนักงานเขตคลองเตย-บางขุนเทียน เป็นต้น ได้รับความร่วมมือจากผู้ได้ส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่มากกว่า 21 แห่ง และมากกว่า 12 หน่วยงานทางวิชาการ มีผู้ผ่านการอบรมทั้งสิ้น 181 คน โดยในจำนวนนี้เป็น “ผู้นำการเปลี่ยนแปลง” จำนวน 41 คน พัฒนาชุมชนตนเอง 27 โครงการ ส่งผลถึงคนในชุมชนมากกว่า 5,000 คน

10309363825399

โดยโครงการที่น่าสนใจ อาทิ โครงการออกกำลังกายด้วยโยคะของชุมชนแฟลต 1-10 เขตคลองเตย ที่เกิดจากการรวมตัวของผู้รักสุขภาพ, โครงการ “ลูกหมูสู่ลูกมด รู้อดรู้ออม เพื่อความพร้อมวัยเกษียณ” ของโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน ที่มีครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สนับสนุนการออกกำลังกายของนักเรียนที่น้ำหนักเกิน แนะนำโภชนาการที่ดี

ทั้งนี้ หลังจากการดำเนินโครงการ พบว่า กลุ่มเป้าหมายทั้งในกรุงเทพฯ และอุบลฯ มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังลดลง โดย 90% มีความรู้เรื่องการออกกำลังกาย 86% มีการตรวจร่างกายประจำปี และ 80% มีการออกกำลังกาย รู้จักเลือกบริโภคอาหารมากขึ้น รวมถึง การประเมินสุขภาพจิตพบว่า 60% มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น ไม่มีภาวะซึมเศร้า และกว่า 80% มีความรู้ด้านการออมเงินผ่านธนาคาร การประกันภัย และการประกันชีวิต 60-75% ต้องการจัดทำบัญชีใช้จ่าย 35-50% มีการวางแผนทางการเงินล่วงหน้า 49% มีการวางแผนการออมเพื่อวัยเกษียณ

ขณะที่ 60% มีความเข้าใจต่อสถานการณ์ผู้สูงวัยในปัจจุบัน 75% มองว่าผู้สูงอายุไม่ใช่ภาระ และกว่า 90% เชื่อว่าสามารถเสียสละเวลาและแรงงานเพื่อร่วมกิจกรรมในชุมชน และสามารถสื่อสารเพื่อรณรงค์การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในชุมชนได้

“หลังจากจบโครงการ เป้าหมายหลักต่อไปคือ การสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมสำหรับประชาชนวัยก่อนสูงอายุ และวัยสูงอายุ เพื่อนำไปสู่สังคมผุ้สูงวัยที่มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน สามารถประยุกต์และปรับใช้ได้กับบริบทของสังคมไทยได้จริง โดยคณะทำงานในกรุงเทพฯ และ อุบลฯ รวมทั้งกลุ่มผู้นำการเปลี่ยนแปลง ควรได้รับการพัฒนาและยกระดับสู่การเป็น “เครือข่ายเกื้อหนุน” บูรณาการร่วมกับเครือข่ายทั้งจังหวัด อำเภอ ไปจนถึงระดับประเทศ เพื่อให้เกิดระบบการดูแลเครือข่ายผู้สูงวัยในระยะยาว” นายปิยะบุตร กล่าว

นพ.นิรุตติ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางโครงการฯ ได้ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้บริหารชั้นนำขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม องค์กรวิชาการ ฯลฯ เพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ซึ่งมีสาระสำคัญ ได้แก่ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์สู่การเป็นสังคมสูงวัยแบบพฤตพลัง (Active Aging) สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพและการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยจัดลงในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการตั้งแต่ในวัยเรียน รวมถึงการพัฒนาทักษะและความรู้ทางการเงิน ส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี และปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการใช้ชีวิตทุกวัย โดยมุ่งหวังผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติในระดับนโยบายของประเทศ ต่อการเตรียมพร้อมสังคมสูงวัยที่พร้อมทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจในระดับประเทศ