'พ่อ นรต. ร่มไม่กาง' จี้อัยการเร่งคดี

'พ่อ นรต. ร่มไม่กาง' จี้อัยการเร่งคดี

"รองโฆษกอัยการ" ตัวแทนรับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม หลังพ่อคนตายเห็นช้าปีกว่า ฟ้องมีผู้ร่วมถูกกล่าวหาพยายามแทรกแซง "โกศลวัฒน์" แจงคดีอยู่ที่ฝ่ายอัยการชี้ขาด มีเอกสารมากต้องรอบคอบ ยันไม่ปล่อยให้คดีขาดอายุความ

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.62 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.แจ้งวัฒนะ นายสาธร พุทธชัยยงค์ บิดาของนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) ชยากร พุทธชัยยงค์ หรือโยโย่ อายุ 19 ปี ที่เสียชีวิตระหว่างฝึกกระโดดร่มแล้วร่มไม่กาง ที่ จ.เพชรบุรี บุรี เมื่อปี 2557 เดินทางมายื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรม พร้อมถือป้ายพลาสติกไวนิล เขียนข้อความระบุ รอความเป็นธรรมจากอัยการ เนื่องจากสำนวนคดีอาญา อยู่ในชั้นพิจารณาของอัยการกว่า 1 ปีครึ่ง

ขณะที่ฝ่ายอัยการ มี นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดรับหนังสือดังกล่าวไว้ เพื่อเสนอสายบังคับบัญชาอัยการสูงสุดตามขั้นตอนต่อไป

ด้าน นายสาธร บิดาของ นรต. ผู้เสียชีวิต กล่าวว่า คดีอาญานี้ เดิมพนักงานสอบสวน (ภูธรภาค 7) มีความเห็นควรสั่งฟ้อง ผู้ต้องหา 11 ราย แต่ตนพบว่ามีผู้ถูกกล่าวหา 1 คนพยายามแทรกแซง ทำให้ในชั้นพิจารณาของอัยการจังหวัดเพชรบุรี และอัยการสำนักงานคดีภาค 7 กลับมีความเห็นสั่งไม่สั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหารายนั้น ต่อมาคดีถูกส่งมาถึงสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อวันที่ 31 ม.ค.61 เพื่อให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดว่าจะมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหารายนั้นหรือไม่ แต่จนถึงขณะนี้เป็นเวลากว่า 1 ปีครึ่งแล้ว แต่อัยการสูงสุดก็ยังไม่มีความเห็น อีกทั้งผู้ถูกกล่าวหาคนดังกล่าวยังโทรศัพท์ไปหา พล.ต.ต.สมเกียรติ แสงสินศร รอง.ผบช.ภาค 7 ขอให้ช่วยเหลือ แต่ รอง ผบช.ภาค 7 ไม่ตอบสนองคำขอ ทำให้ตนเองรู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก จึงมาร้องขอความเป็นธรรม

โดย นายโกศลวัฒน์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กล่าวชี้แจงว่า สาเหตุที่คดีนี้ล่าช้า เนื่องจากต้องพิจารณาคำร้องขอความเป็นธรรมจากทางผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหา และอัยการกับตำรวจมีความเห็นไม่ตรงกันทำให้ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ที่สำนักงานอัยการฝ่ายชี้ขาดคดีซึ่งเอกสารสำนวนคดีมีเป็นปริมาณมาก โดยปกติกรอบระยะเวลาของคดีที่มีความซับซ้อนจะใช้ระยะเวลาประมาณปีกว่า ดังนั้นคดีนี้เป็นไปได้ว่า อาจจะใกล้มีความเห็นชี้ขาดแล้ว อย่างไรก็ดีอัยการจะไม่ปล่อยให้คดีหมดอายุความ

ส่วนกรณีที่นายสาธรระบุมีผู้ถูกกล่าวคนหนึ่งพยายามแทรกแซงนั้น นายโกศลวัฒน์ กล่าวว่า ยืนยันการทำงานของอัยการสูงสุดทุกขั้นตอนมีการลงบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรสามารถตรวจสอบได้ โดยจะนำหนังสือคำร้องของนายสาธรมอบให้ผู้บัญชาการตรวจสอบรายละเอียดคำร้อง ส่วนจะมีคำสั่งให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับอัยการที่มีส่วนในกระบวนการแทรกแซงหรือไม่นั้นให้รอผลพิจารณาของผู้บัญชาการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีการเสียชีวิตของ นรต.ชยากร นั้น นายสาธร บิดาผู้เสียชีวิต ก็ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจำนวน 49.5 ล้านบาท จากกลุ่มผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดหาและติดตั้งสลิงฝึกกระโดร่มด้วย ซึ่งล่าสุดวันที่ 18 ก.ค.62 ที่ผ่านมา ศาลแพ่งได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ บจก.อุตสาหกรรมการบิน จำเลยที่ 2 และ นายวัชรพงษ์ วงศ์สุบรรณ นายตรวจอากาศยานศูนย์ซ่อม จำเลยที่ 9 ร่วมกันชดใช้ค่าจัดการศพรวมทั้งค่าขาดอุปการะให้กับ นายสาธร บิดา นรต.ชยากร เป็นเงินทั้งสิ้น 4.82 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้อง 21 ม.ค.59 จนกว่าจะชำระเสร็จ รวมทั้งชำระค่าทนายความแทนโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 10,000 บาท