ชวนร่วม 'เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค4.0'

ชวนร่วม 'เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค4.0'

มม ร่วมกับ ราชบัณฑิตยสภา จัดประชุมวิชาการ “เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0" ระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม 2562 เผยแพร่ความก้าวหน้าเวชกรรมตรงเหตุ เดินหน้าพัฒนางานวิจัย ศึกษาพันธุกรรมของคนไทย ค้นหารักษาทางการแพทย์ ยาเหมาะกับคนไทย

วันนี้ (31 ก.ค.2562) มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับราชบัณฑิตยสภา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และหน่วยงานพันธมิตร แถลงข่าวการจัดประชุมวิชาการ "เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทยยุค 4.0" ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-8 สิงหาคม 2562 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพมหานคร โดยมีนพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า หน้าที่ของราชบัณฑิตยสภา ไม่ใช่เพียงการอนุรักษ์ภาษาไทยเท่านั้น แต่ยังมีบทบาทหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้และบำรุงสรรพวิชา สร้างองค์ความรู้ในหลากหลายวิธี และมีภารกิจสร้างนักวิจัยใหม่ สร้างเครือข่ายนักวิชาการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่สาธารณชน สร้างองค์ความรู้ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีภารกิจเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงองค์ความรู้ ความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่เกี่ยวกับเวชกรรมตรงเหตุ หรือ Precision Medicine
ไม่ว่าจะเป็นการรักษาโรคด้วยยา การบริหารยาโดยอิงตามพันธุกรรมของผู้ป่วย หรือการใช้เทคนิคทางพันธุวิศวกรรมหรือชีวโมเลกุลในการรักษาโรคที่ยาก เช่น โรคมะเร็งบางชนิด ซึ่งหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาเวชกรรมใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

นสพ.ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา กล่าวถึงสถานการณ์รักษาโรคในยุคปัจจุบันสู่จุดเปลี่ยนการใช้เวชกรรมตรงเหตุในประเทศไทย ว่า เวชกรรมตรงเหตุ เป็นศาสตร์ใหม่ที่เติบโต และพัฒนาอย่างรวดเร็วใน 10ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการศึกษาหน่วยเล็กๆ ที่อยู่ภายในเซลล์ ยีนส์ ดีเอ็นเอ หรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย และได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันหรือรักษาโรคยาก ๆ หลายโรคอย่างได้ผล ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็งบางชนิด โรคพันธุกรรม เช่น โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งมีผู้เริ่มนำมาใช้รักษาโรคในประเทศไทยบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม เวชกรรมตรงเหตุในต่างประเทศมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดนำไปสู่การรักษาโรคที่มีความท้าทายมาก เช่น การติดเชื้อ HIV หรือโรคเอดส์ หรือการปลูกถ่ายอวัยวะ โดยใช้อวัยวะของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ โดยไม่ต้องรอผู้บริจาค ซึ่งงานประชุมนี้มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นการรวบรวมผู้เชี่ยวชาญชั้นนำในด้านนี้ของประเทศไทย ชาวไทยจะได้เห็นพัฒนาการของศาสตร์นี้ในประเทศไทยอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ทั้งศักยภาพที่แท้จริงของศาสตร์แขนงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนในลักษณะคุ้มครองผู้บริโภค หรือเพิ่มความรอบรู้ทางสุขภาพ (health literacy) เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดี ที่สื่อสารเกินจริงจนอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความเข้าใจผิดจนละเลยการรักษาตามขั้นตอน หรือเสียทรัพย์ ในการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพจริงตามที่อ้าง เป็นต้น
 
 
 นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่าวช.เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนงานวิจัยของประเทศ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะทำให้รับทราบถึงความก้าวหน้าของเวชกรรมตรงเหตุ โดยที่ผ่านมา วช.สนับสนุนเรื่องนี้นานแล้ว เพราะเป็นเรื่องที่สำคัญต่อความก้าวหน้าการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เนื่องจากการใช้เวชกรรมตรงเหตุ ทำให้วงการแพทย์รักษาโรคที่แต่เดิมรักษาไม่ได้กระบวนการรักษามีความยุ่งยาก และอันตรายสูง แต่สามารถใช้เวชกรรมตรงเหตุในการรักษาและปลอดภัยมากขึ้น ส่วนการใช้งานในประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นผลงานวิจัยในต่างประเทศ การใช้เวชกรรมตรงเหตุรักษาได้และเป็นการรักษาตามพันธุกรรมจะทำให้ได้ยาก เป็นการรักษาที่ตรงกลุ่มเพราะการที่ทราบถึงลักษณะพันธุกรรม และข้อมูลทางด้านยา ทำให้การเลือกยา ชนิดของยาที่เหมาะสมกับการรักษา ทำให้การเป็นพิษหรือผลข้างเคียงต่างๆ ของยาลดลงได้

"หลังจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ไทยต้องวิจัยเพิ่มขึ้น 3 กลุ่ม คือ 1.งานวิจัย และผลงานที่ใช้ในเรื่องเวชกรรมตรงเหตุในไทย ปัจจุบันจำนวนมากเป็นข้อมูลในต่างประเทศ และนำงานวิจัยต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ทั้งที่ข้อมูลพันธุกรรมไทยต่างจากพันธุกรรมต่างประเทศ ดังนั้น จำเป็นต้องวิจัยเพิ่มเติม เพื่อให้เหมาะสมกับไทย 2.โรคต่างๆ ที่พบในต่างประเทศ อาจไม่เหมือนในไทย ต้องสนับสนุนให้ภาควิจัยของไทย ทำในเรื่องของไทยที่ต่างประเทศอาจไม่ได้ทำ และ3.เวชกรรมตรงเหตุที่ใช้เป็นเรื่องใหม่ และราคาแพง บางครั้งต้องฉีดยาเข็มละเป็นแสนบาท ทำให้การเข้าถึงของประชาชนเป็นข้อจำกัด ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา วช.ได้สนับสนุนการวิจัย ส่งเสริมการร่วมกลุ่ม มุ่งเป้าโรคสำคัญ ซึ่งเวชกรรมตรงเหตุเป็นการแพทย์แม่นยำในโรคมะเร็ง การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล และจะได้เห็นว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร"นพ.สิริฤกษ์ กล่าว

นพ.วชิร คชการ รักษาการแทนรองอธิการฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันวิชาการด้านนี้มีความก้าวหน้าอย่างมาก การประชุมครั้งจะเป็นเวทีแสดงความก้าวหน้า เผยแพร่ความรู้ไปสู่นักวิจัย นักวิชาการ ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพแก่ประชาชน ดังนั้น ในงานประชุมนี้ จะมีการบรรยายเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งที่รักษาได้ด้วยเวชกรรมตรงเหตุ โรคทางเมแทบอลิซึม เช่น โรคทางต่อมไร้ท่อ หรือ โรคอ้วน โรคเลือด อาทิ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และธาลัสซีเมียตลอดจนโรคของระบบทางเดินปัสสาวะ โรคสมอง และโรคปอด การรักษาอาการแพ้ยา  การปรับปริมาณยาก่อนการ Treat ยา โดยวินิจฉัยจากระดับยีนเฉพาะรายบุคคล เป็นต้น