'ประยุทธ์' เปิดประชุมรมว.ต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52

'ประยุทธ์' เปิดประชุมรมว.ต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52

‘พล.อ.ประยุทธ์’ เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 อย่างเป็นทางการ ย้ำสนับสนุนบทบาทอาเซียน เชื่อมโยงพัฒนาทุนมนุษย์ เทคโนโลยีการเงิน ลดช่องว่างเมืองกับชนบท และเสริมสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล

วันนี้ (31 ก.ค.) เวลา 09.10 น. ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกล่าวในพิธีเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 52 โดยในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย รัฐมนตรีต่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศสมาชิกคู่เจรจา และประเทศที่ได้รับเชิญ อาทิ ติมอร์เลสเต ปาปัวนิวกินี เปรู นอร์เวย์ ตุรกี สวิตเซอร์แลนด์ และเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วมงาน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนปี 2562 มุ่งมั่นที่จะสร้างประชาคมอาเซียน ที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และก้าวไปสู่อนาคต ภายใต้กรอบแนวคิดหลัก “ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน” เพื่อจะสร้างประชาคมให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายต่าง ๆ โดยจะร่วมมือร่วมใจกับหุ้นส่วนนอกภูมิภาคขับเคลื่อนความยั่งยืนในทุกมิติ และเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

“อาเซียนไม่สามารถบรรลุผลได้เพียงลำพัง แต่ต้องเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาอาเซียน และประเทศนอกภูมิภาค รวมทั้งเปิดรับความร่วมมือกับภาคีต่าง ๆ สะท้อนได้จากการเข้าร่วมการประชุมผู้นำ จี20 ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนมิ.ย. 2562 ในฐานะประธานอาเซียน โดยได้นำเสนอผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงิน 2. การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท 3. การอนุรักษ์และฟื้นฟู สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรทางธรรมชาติ และ 4. การพัฒนาทุนมนุษย์ จะนำไปสู่แนวทางร่วมกันในการแปรเจตนารมณ์สู่การปฏิบัติบนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนเพื่อให้เกิดขึ้นได้ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ในเดือน พ.ย.2562” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ผลลัพธ์การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 เมื่อเดือนที่ผ่านมา ได้สะท้อนถึงความร่วมมือบนความสัมพันธ์ทางภูมิศาสตร์ การเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ในอาเซียน เพื่อต่อยอดสู่การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งนี้ ในการเตรียมพร้อมก่อนเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ โดยเฉพาะ เรื่องดิจิทัล ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 รวมถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอาชญากรรมข้ามชาติ ดังนั้น เป็นสิ่งสำคัญที่อาเซียนจะต้องร่วมมือกัน และแสวงหาความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาค ผ่านมุมมองอาเซียนต่อแนวคิดยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเปิดโอกาสหาความร่วมมือใหม่ ๆ อย่างยั่งยืน อาทิ ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทางทะเล