แนะเลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยี ใช้สื่อดิจิทัลให้เหมาะสม

แนะเลี้ยงลูกให้เท่าทันเทคโนโลยี ใช้สื่อดิจิทัลให้เหมาะสม

เผยผลวิจัย ทัศนคติพ่อแม่ยุคมิลเลนเนียน ชาวเอเชีย ต้องการให้ลูกได้เรียนรู้ ผ่านประสบการณ์ แต่ส่วนใหญ่กลับใช้จ่ายเงินไปกับค่ากวดวิชา แนะพ่อแม่ทำกิจกรรมร่วมกับลูก ใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.62 เอชพี อิงค์ ประเทศไทย เผยผลการวิจัยโครงการ New Asian Learning Experience ในหัวข้อครอบครัวยุคใหม่ต่อการเรียนรู้ของลูก เพื่อวางรากฐานสู่อนาคต โดยสำรวจทัศนคติและบุคลิกลักษณะของพ่อแม่ยุคมิลเลนเนียล จำนวน 3,177 คน จาก 7 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ อินเดีย จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และประเทศไทย พบว่า อนาคตของลูกเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองทุกคนกังวลมากที่สุด

โดย 66% กังวลเรื่องค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น 42% กังวลเรื่องความมั่นคงทางการทำงาน 54% กังวลเรื่องทักษะที่ถูกต้องต่อบทบาทชีวิตในอนาคต ขณะที่ผู้ปกครองไทยกว่า 65% กังวลเรื่องค่าครองชีพมากที่สุด รองลงมา 54% เป็นห่วงเรื่องการสร้างทักษะที่ถูกต้องกับเด็กในอนาคต

10304362327820

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่กว่า 83% ต้องการให้ลูกหลานพัฒนาทักษะทางสังคมอย่างมีความสุขที่สุด โดยนิยมให้ลูกเรียนรู้แบบผสมผสานระหว่าง “สิ่งพิมพ์” ซึ่งจะให้ผลด้านการอ่านเพื่อความเข้าใจ การเรียนศัพท์ และการจดจำ และ “ดิจิทัล” ที่ช่วยในด้านความคิดสร้างสรรค์ และสร้างวิจารณญาณ ก่อให้เกิดผลเชิงบวก มากกว่าเรียนรู้จากอย่างใดอย่างหนึ่ง

แม้การสำรวจจะพบว่า ผู้ปกครองคนไทยกว่า 89% มักเข้าไปมีส่วนร่วมกับเด็ก เพราะต้องการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ พัฒนาทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น แต่หากมองถึงประเด็นที่ว่า ผู้ปกครองยอมจ่ายเพื่อส่งลูกไปเรียนพิเศษกลับเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ

10304362228027

โดยผู้ปกครองชาวเอเชีย 60% ยอมใช้จ่ายไปกับค่าเรียนพิเศษ นอกเหนือจากการเรียนในเวลาปกติ ขณะที่ผู้ปกครองไทย 64% ใช้จ่ายไปกับค่าเรียนพิเศษและสถาบันกวดวิชา 35% ยอมย้ายบ้านเพื่อให้ลูกได้เรียนในโรงเรียนที่ดี และ 45% ยอมกู้เงินเพื่อการศึกษาของลูก

10304362613944

นายปวิณ วรพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอชพี อิงค์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานเสวนา HP New Asian Learning Experience เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ของครอบครัวยุคใหม่ ณ โรงแรมโรสวูด แบงคอก ว่า ผู้ปกครองทุกคนอยากให้บุตรหลานมีความสุขในการทำกิจกรรม แต่พฤติกรรมผู้ปกครองในปัจจุบันมีความขัดแย้ง แม้ส่วนใหญ่ต้องการให้ลูกๆ เรียนรู้จากประสบการณ์ แต่ก็ยังส่งบุตรหลานไปเข้าโรงเรียนกวดวิชา และใช้แต่ทักษะความจำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะไม่ใช่โซลูชั่นที่ดีพอสำหรับเด็ก

10304364002475

ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า สิ่งที่พ่อแม่ปัจจุบันทำง่ายที่สุดคือ ส่งลูกไปโรงเรียนกวดวิชา หรือลูกซนมาก เอาแท็บเล็ตไปเล่น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สมาธิสั้น เพราะฉะนั้น ต้องหากิจกรรมให้ทำ สิ่งที่ดีที่สุดคือ ให้น้องมีประสบการณ์และมีส่วนร่วมในการทำงานบ้าน อย่ากลัวลูกลำบาก พ่อแม่เวลานั่งกับลูก ต้องตั้งคำถามกับลูก อย่ามั่วแต่นั่งเล่นมือถือ เอาเวลาส่วนใหญ่ไปเล่นกับลูก เพื่อให้เขาเตรียมพร้อมสู่อนาคต

"เด็กช่วงปฐมวัย เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่วัยที่ต้องเร่งอ่านออกเขียนได้คิดเลขเป็น แต่ควรหาสื่อดีๆ ที่ให้เขาได้มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้เรื่องสังคมมากขึ้น อย่าไปยัดเยียดการเรียน ขณะที่ช่วงประถมศึกษา ควรส่งเสริมให้เขาได้เรียนดนตรี ศิลปะ เริ่มท่อง ก.ไก่ ให้ซึมซับ เกิดการพัฒนา โลกของเด็กประถมต้องท้าทายไม่ใช่บังคับ และการวางเทคโนโลยีเข้าไป ต้องทำให้ถูกจะได้ผลดี” ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย