‘นอร์เวย์’ลงขัน 3 ล้านดอลล์แก้ปัญหาขยะทะเลอาเซียน

‘นอร์เวย์’ลงขัน 3 ล้านดอลล์แก้ปัญหาขยะทะเลอาเซียน

รัฐมนตรีต่างประเทศนอร์เวย์เสนอเงินทุนจำนวน 3 ล้านดอลล่าร์ ช่วยอาเซียนต่อต้านปัญหาขยะทะเล ด้านตุรกี ต้องการกระชับความร่วมมืออาเซียนโดยเฉพาะการค้าดิจิทัล ในช่วงที่ไทยเป็นประธาน ชี้เป็นปีแห่งทศวรรษอาเซียน

นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในวันนี้ (30 ก.ค.) นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ได้เข้าร่วมการประชุมสามฝ่ายระหว่างไทย สำนักเลขาธิการอาเซียน และนอร์เวย์ ในฐานะประเทศคู่เจรจารายสาขา ( Sectoral Dialogue partner ) ซึ่งนายดอนได้หยิบยกเอกสารวิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียน ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน หวังนำไปสู่การขยายความร่วมมือหลายด้าน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล 

นางอินเนอร์ เอริกเซน เซอไรดะ รัฐมนตรีต่างประเทศนอร์เวย์ กล่าวว่า รัฐบาลนอร์เวย์มีความเชี่ยวชาญในการจัดการปัญหาทางทะเลที่ถือว่าเป็นจุดแข็ง และมีเงินทุน 3 ล้านดอลลาร์เพื่อให้การสนับสนุนในเรื่องนี้ โดยครอบคลุมการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่จะเป็นความร่วมมือภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวอีกว่า ขณะที่การประชุมสามฝ่ายระหว่างไทย สำนักเลขาธิการอาเซียน และตุรกี ในฐานะประเทศคู่เจรจารายสาขา ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผลักดันความร่วมมือในลักษณะพิเศษๆ โดยนายดอน ขอให้ตุรกีสนับสนุนการพัฒนาเรื่องความยั่งยืน ภายใต้แผนความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมปี 2562 -  2566 ซึ่งมีครอบคลุมเรื่องการก่อการร้าย ความมั่นคงทางไซเบอร์ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การค้าดิจิทัล และโลจิสติกส์ ด้านนายเมฟเลิต ซาวูโชลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี ได้แสดงความพร้อมให้การสนับสนุนและร่วมมือกับอาเซียนในทุกด้าน และสนใจร่วมมือกับอาเซียนเพราะมีความก้าวหน้าในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียนถือว่าปีนี้เป็นปีแห่งทศวรรษอาเซียน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการค้าการลงทุนระหว่างอาเซียนในปี 2562 อยู่ที่ 6.47 พันล้านดอลลาร์ ส่วนการลงทุนอยู่ที่ 35.03 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ ในวันเดียวกัน นายดอน ปรมัตถ์วินัย ยังได้หารือทวิภาคีกับ นายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย โดยทั้งสองฝ่ายได้ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในมิติต่าง ๆ อาทิ เศรษฐกิจ พลังงาน สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง การศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยไทยได้เชิญชวนให้รัสเชีย ลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC และอุตสาหกรรม S-Curve ในสาขาที่ฝ่ายรัสเชียเชี่ยวชาญ เช่น อุตสาหกรมอวกาศ อุตสาหกรรมการบิน เทคโนโลยีดิจิทัล และเมืองอัจฉริยะ