หนุนตั้งคกก.สวัสดิการ ดูแลแรงงานข้ามชาติ

หนุนตั้งคกก.สวัสดิการ ดูแลแรงงานข้ามชาติ

เครือข่ายสิทธิแรงงานข้ามชาติ หนุนรัฐตรวจสอบทุกบริษัทตั้งคกก.สวัสดิการ ดูแลแรงงานข้ามชาติ ตามกฎหมายไทย ขณะที่ภาคธุรกิจระบุเป็นความท้าทาย ตั้งคกก.สวัสดิการพร้อมเปิดหลายช่องทางร้องเรียนแก่แรงงาน

เมื่อวันที่ 30 ก.ค.62 ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย สถาบันเอเชียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่ออาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนเสวนา “หลังคลื่น IUU: เดินหน้าหรือหยุดนิ่ง ทิศทางและความท้าทายล่าสุดประมงไทย” เพื่อสร้างพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนนโยบายและการบริหารจัดการแรงงานอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน และมองหาข้อท้าทายและแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลไทย หลังไทยถูกปลดใบเหลือง IUU จากสหภาพยุโรป
รัฐควรตรวจสอบโรงงานให้เป็นไปตามกม.

น.ส.สุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) กล่าวว่าที่ผ่านมาได้มีความพยายามหาช่องทางให้แรงงานข้ามชาติสามารถร้องเรียนกับทางบริษัท กฎหมายคุ้มครองไว้ว่านายจ้างต้องมีการจัดการเลือกตั้งให้มีคณะกรรมการสวัสดิการในสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้น โดยต้องมีคณะกรรมการฯ 5 ขึ้น ซึ่งเท่าที่ดูในสถานประกอบการ มีความเป็นไปได้ และดีในระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่อยากเห็นไม่ได้เพียงในกฎหมาย อยากเห็นฟังก์ชั่น หรือรูปแบบที่แรงงานใช้ได้จริง ดีและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการสรรหาแรงงานต้องคำนึงถึงทุกชาติที่อยู่ในโรงงาน เช่น ลาว กัมพูชา คนไทย ได้พยายามเสนอถ้าแรงงานสถานประกอบการ มีไม่น้อยกว่า 10,000 คน แต่มีผู้ปฏิบัติเพียง 5 คน คงดูไม่เหมาะสม อยากให้ดูสัดส่วนของแรงงาน ให้แรงงานมาสมัครเป็นคณะกรรมการฯมากกว่า 5 คน และให้มีแรงงานมาสมัครในทุกชาติ คำนึงถึงความเป็นเพศด้วย เพราะบางสถานประกอบการมีแรงงานหญิงมากกว่าแรงงานไทย อีกทั้งถ้ามีการเลือกตั้งคณะกรรมการฯ เสร็จ ต้องมีการอบรมให้คณะกรรมการสวัสดิการซึ่งมาจากแรงงานรู้ถึงบทบาทหน้าที่ และต้องมีการประชุมทุก 3 เดือน ต้องมีผู้บริหารของบริษัทที่สามารถตัดสินใจได้ ไม่ใช่เอาใครก็ได้ ไม่สามารถตอบอะไรได้แก่แรงงาน

“อยากฝากในทุกบริษัท โรงงานจัดให้มีคณะกรรมการสวัสดิการ จัดทำตามขั้นตอนในข้อเสนอหรือไม่อย่างไร กลไกการร้องเรียนแต่ละบริษัท เมื่อแรงงานมีประเด็นร้องเรียน บริษัทมีกระบวนการอย่างไร และอยากถามถึงภาครัฐ ได้มีการตรวจสอบหรือไม่ว่าแต่บริษัทได้ทำตามกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ หรือรอเพียงรายงาน 3 เดือนในกระดาษเท่านั้น รวมถึงเมื่อใดจะได้รับสัญญาณจากรัฐบาลได้รับอนุสัญญา ILO (International Labour Organization)หรือ ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ 98 ที่รับรองสิทธิคนงานในการตั้งสหภาพแรงงาน และคุ้มครองคนงานไม่เลือกหน้า” น.ส.สุธาสินี

“การสื่อสาร” ช่องว่างหัวหน้า-ลูกน้อง

น.ส.เบ็ญจพร ชวลิตานนท์ ตัวแทนจากบริษัท ซีเฟรชอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าซีเฟรส มีแรงงานประมาณ 2,600 คน มีแรงงานต่างด้าวจากพม่ามากสุด และแรงงาน 80% เป็นผู้หญิง โดยการตั้งคณะกรรมการสวัสดิการนั้น มีตัวแทน 22 คน และปัจจุบันมีช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียน 8 ช่องทาง ซึ่งในส่วนของคณะกรรมการสวัสดิการ และทีม HR จะเป็นช่องทางในการที่คนงานมาร้องเรียนมากที่สุด อีกทั้งได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการสวัสดิการกับนายจ้าง ถือว่ามีบทบาทที่มากขึ้น ให้เขาได้รู้ว่ามีหน้าที่อย่างไร พยายามให้มีตัวตนและให้ภาคภูมิใจ ดังนั้น ทางบริษัท โรงงานได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการ ให้เป็นไปตามกลไกของภาครัฐ เป็นไปตามกฎหมาย

“ปัญหาของแรงงานที่ผ่านมา หลายๆ เรื่องของแรงงานเกิดจากความเข้าใจผิดระหว่างหัวหน้าคนไทยกับลูกน้องต่างด้าว นั่นเกิดจากการสื่อสาร ทำให้เกิดช่องว่าง ตอนนี้ได้อบรมภาษาพม่าให้แก่หัวหน้างานทั้งหมด ส่งผลให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้น เนื่องจากหัวหน้าและลูกน้องสื่อสารด้วยภาษาเดียวกัน และกำลังขยายไปกับพนักงานอื่นๆที่ต้องเรียนรู้กับแรงงานพม่า และแรงงานชาติอื่นๆ นอกจากนั้น บริษัทได้ขับเคลื่อนผ่านทีมงาน ทีมHR แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องท้าทาย และต้องใช้เวลา” น.ส.เบ็ญจพร กล่าว

ไทยยูเนี่ยน ศึกษาการตั้งคกก.สวัสดิการ

นายปราชญ์ เกิดไพโรจน์ ผู้จัดการด้านสิทธิมนุษยชน บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่าไทยยูเนี่ยน มีโรงงานหลายขนาด ซึ่งในการจัดตั้งคณะกรรมการสวัสดิการ ได้ดำเนินการส่งเสริม โดยมีระบบการสรรหาตัวแทนแรงงาน และพยายามทำความเข้าใจกับแรงงานให้มาสมัครเป็นคณะกรรมการฯ เพื่อให้กระบอกเสียงให้แก่แรงงาน และเป็นไปตามมาตรฐานในกฎหมายไทย อนุสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งทุกโรงงานต้องมีสภาพความเป็นตัวแทน มีคณะกรรมการสวัสดิการครอบคลุม หากโรงงานใดมีแรงงานมากก็ต้องมีคณะกรรมการสวัสดิการมากขึ้น และเมื่อได้คณะกรรมการสวัสดิการแล้ว จะมีการจัดอบรม ให้รู้ถึงสิทธิต่างๆ สามารถนำไปถ่ายทอดต่อเพื่อนแรงงานด้วยกัน รวมถึงรับฟังข้อร้องเรียนจากเพื่อนแรงงานเพื่อนำมาประชุมร่วมกับนายจ้าง นอกจากนั้น ได้มีช่องทางให้แรงงานมาร้องเรียน ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานจะร้องเรียนช่องทางภายในมากกว่าช่องทางภายนอก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ทางไทยยูเนี่ยน ได้มีการศึกษาการดำเนินการต่างๆใน 5-6 โรงงาน ที่แต่ละโรงงานมีบริบท มีจำนวนแรงงานที่ต่างกัน ว่าปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดการพัฒนาแรงงานข้ามชาติ

ตั้งคณะอนุกรรมการฯ ครอบคลุม 4 กลุ่ม

นางพักตร์พริ้ง บุญน้อย ตัวแทนจากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า CPF การตั้งคณะกรรมการสวัสดิการเป็นเรื่องที่ดี แต่ที่กฎหมายกำหนดหากมีแรงงาน 50 คน ต้องมีคณะกรรมการฯ 5 คน มองว่าควรจะมีการเพิ่มจำนวนมากกว่านี้ เช่น ถ้ามีลูกจ้างเพิ่ม 400 คน คณะกรรมการสวัสดิการที่มาจาการเลือกตั้งควรมีจำนวนมากกว่า 5 คน และต้องครอบคลุมทุกกลุ่ม แต่ในทางปฏิบัติอาจจะไม่สามารถควบคุมได้ว่าครอบคลุมทุกกลุ่ม จึงได้มีการเลือกตั้งทางอ้อม มาแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการ เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งด้านเพศ ศาสนา ความพิการ เชื้อชาติ เพราะข้อจำกัดและข้อเสนอแนะที่มาจากหลากหลายกลุ่มย่อมเป็นประโยชน์ และมีแตกต่างกัน โดยคณะอนุกรรมการฯ ต้องมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการสวัสดิการ ก่อนมีคณะกรรมการสวัสดิการจะไปประชุมร่วมกับนายจ้าง ผู้บริหารของโรงงาน

“ในการดำเนินการดังกล่าว ได้ทำในทุกส่วนของCPF ทั้งสถานประกอบการขนาดใหญ่และขนาดเล็กขององค์กร ครอบคลุมทุกธุรกิจ โดยได้มีการริเริ่มเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ส่วนช่องทางที่จะให้แรงงานพี่น้องข้ามชาติร้องเรียนนั้น มีหลากหลายช่องทางทั้งภายในและภายนอก กลับพบว่า แรงงานข้ามชาติจะใช้บริการช่องทางภายนอกร้องเรียนน้อยมาก ส่วนใหญ่จะร้องเรียนภายใน รวมถึงมีแผนสนับสนุนให้บริษัทคู่ค้าส่งเสริมในเรื่องนี้ร่วมด้วย”นางพักตร์พริ้ง กล่าว
แนะลูกจ้างควรมีส่วนร่วมพิจารณาโทษ

นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า คณะกรรมการสวัสดิการ เพื่อให้ทางลูกจ้างได้คุยกับนายจ้างแบบทวิภาคีก่อน ซึ่งทำให้มีการเปิดช่องทางเพื่อร้องเรียนต่างๆ ส่วนตัวอยากแนะนำให้มีการชมเชยแรงงานที่มีข้อเสนอหรือข้อร้องเรียน เพราะบางครั้งลูกจ้างไม่กล้ามาร้องเรียน เนื่องจากกลัวนายจ้างกาหัว นอกจากนั้น การร้องทุกข์ของลูกจ้างในบริษัท ทางกรมสวัสดิการฯ พยายามรณรงค์ให้ลูกจ้างมีส่วนในการพิจารณาที่นายจ้างจะลงโทษลูกจ้างด้วย สำหรับกลไกในการตรวจสอบการตั้งคณะกรรมการสวัสดิการนั้น ขณะนี้เป็นการบังคับตามข้อกฎหมายที่ต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งถ้าสถานประกอบการไหนไม่มีก็จะออกไปดำเนินคดี หรือถ้าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็จะต้องตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ทุกปีมีการตรวจสอบสถานประกอบการ โรงงาน บริษัทต่างๆ อยู่แล้ว ประมาณ 35,000 แห่ง