WHOชูมาตรการป้องกันการจมน้ำของประเทศไทย เน้นใช้กลยุทธ์ทีมผู้ก่อการดี

WHOชูมาตรการป้องกันการจมน้ำของประเทศไทย เน้นใช้กลยุทธ์ทีมผู้ก่อการดี

องค์การอนามัยโลก (WHO) ชูมาตรการป้องกันการจมน้ำของประเทศไทย โดยเน้นใช้กลยุทธ์ทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER)

วันนี้ (30 กรกฎาคม 2562) ที่โรงแรมเอทัส ลุมพินี  กรุงเทพฯ  นายแพทย์สุวรรณชัย  วัฒนายิ่งเจริญชัย  อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  นางสาวเก็มม่า เมย์  ผู้แทนองค์กร Royal National LifeBoat Institution (RNLI) ประเทศอังกฤษ  และนายแพทย์ทักษพล ธรรมรังสี ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมการประชุม South – East Asia Regional Meeting on Drowning Prevention (การป้องกันการจมน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ระหว่างวันที่ 30-31 กรกฎาคม 2562 เพื่อสร้างความตระหนักระดับนโยบายและความมุ่งมั่นในการป้องกันการจมน้ำ ทบทวนกลยุทธ์ นโยบายและโปรแกรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการจมน้ำ และพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของ WHO และหุ้นส่วนการพัฒนาอื่นๆ

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำประมาณ 360,000 คน เฉลี่ยชั่วโมงละ 40 คน มากกว่าร้อยละ 90 ของการจมน้ำเกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าประเทศที่มีรายได้สูง 3 เท่า ซึ่งการเสียชีวิตจากการจมน้ำของโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งเกิดขึ้นในเอเชีย อัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนใหญ่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วโลก

สำหรับประเทศไทย การจมน้ำยังเป็นปัญหาสาธารณสุข ที่ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องจากการจมน้ำเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี และอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าทุกกลุ่มอายุถึง 2 เท่า โดยก่อนเริ่มดำเนินมาตรการป้องกันการจมน้ำ (ก่อนปี พ.ศ. 2549) มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1,500 ราย โดยหลังมีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับการจมน้ำและเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และจิตอาสา ร่วมกันดำเนินการในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนดำเนินการลดลงถึงร้อยละ 50 โดยในปี 2561 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิต จำนวน 681 ราย

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ประเทศไทยได้กำหนดให้แผนการป้องกันการจมน้ำบูรณาการอยู่ในแผนของแต่ละกระทรวงตามบทบาทพันธกิจที่กำหนด เช่น แผนฉุกเฉินอุบัติเหตุทางน้ำ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ  แผนนโยบายโลกที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และแผนยุทธศาสตร์ชาติ (ด้านสาธารณสุข) ระยะ 20 ปี ซึ่งกลยุทธ์การสร้างทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) เป็นมาตรการหลักที่อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติดังกล่าว โดยทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ต้องดำเนินการใน 10 องค์ประกอบ ซึ่งแต่ละองค์ประกอบคือ มาตรการที่สำคัญของการป้องกันการจมน้ำที่ครอบคลุมปัจจัยเสี่ยงทั้งทางด้านตัวบุคคลและสิ่งแวดล้อม โดยผลการดำเนินงานของทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ป้องกันการจมน้ำ ระยะเวลา 4 ปี (ปี 2558–2561) พบว่ามีทีมผู้ก่อการดี 3,484 ทีม ครอบคลุม 688 อำเภอ ใน 77 จังหวัด  สำหรับ Good Practice ทางกรมควบคุมโรคได้คัดเลือก 4 พื้นที่ที่ดำเนินงานผู้ก่อการดีมาแสดงผลงาน ได้แก่  ทีมผู้ก่อการดีปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ  ทีมผู้ก่อการดีบ้านจารย์ จังหวัดสุรินทร์ โรงเรียนวัฒนพฤกษา จังหวัดนนทบุรี และทีมมูลนิธิพุทธธรรม (ฮุก 31) จังหวัดนครราชสีมา

การประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูงของประเทศเครือข่ายสมาชิกขององค์การอนามัยโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกตะวันตก 16 ประเทศ เข้าร่วมประชุมประเทศละ 3 คน ได้แก่ ผู้กำหนดนโยบายระดับสูงด้านการบริหารจัดการและการจัดการโครงการระดับประเทศด้านการป้องกันการจมน้ำ ผู้จัดการโครงการระดับประเทศ/ผู้อำนวยการ และผู้ประสานงานด้านข้อมูลของประเทศ  นอกจากนี้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันการจมน้ำในระดับโลก รวมทั้งผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก สำนักงานใหญ่ เจนีวา ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แปซิฟิกตะวันตกและประเทศไทย และองค์กร Royal Life Saving ประเทศออสเตรเลีย เข้าร่วมประชุมด้วย รวมทั้งสิ้นประมาณ 100 คน