'ส.ส.อนค.' ​เสนอ 5 ขั้นตอนปลดล็อคปัญหาเกษตรกร 'อนุพงษ์' ขอรับไปพิจารณา

'ส.ส.อนค.' ​เสนอ 5 ขั้นตอนปลดล็อคปัญหาเกษตรกร 'อนุพงษ์' ขอรับไปพิจารณา

“ส.ส.อนค.”​เสนอ 5 ขั้นตอนปลดล็อคปัญหาเกษตรกร “อนุพงษ์” ชมขอรับไปพิจารณา พร้อมลั่นกลางสภา ให้ตรวจสอบ “ญาติทางปู่” ไม่เคยฮุบที่ดินหลวง วอน “สภาฯ” ร่วมแก้ปัญหาที่ดิน ปลดล็อคกฎหมายบางอย่าง

เมื่อเวลา 18.05 น. วันที่ 26 กรกฏาคม 2562 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายนโยบายรัฐบาลต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรและการแก้ไขปัญหา พร้อมให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล เนื่องจากในนโยบายรัฐบาลที่เสนอต่อรัฐสภายังขาดประเด็นและรายละเอียด โดยย้ำว่านโยบายที่รัฐบาลนำเสนอคือนโยบายที่เคยเขียนมาแล้วเมื่อ 10 -30 ปีที่ผ่านมา และที่ระบุว่าจะแก้ไขปัญหาเกษตรกรโดยกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนอาจเป็นไปไม่ได้ หากขาดการแก้ไขใน 5 ขั้นตอนโดยเรียงลำดับ คือ 1.แก้ไขเรื่องที่ดิน ปัจจุบันเกษตรกรที่เช่าที่ดินเพื่อทำเกษตร คิดเป็น 45 เปอร์เซ็นต์ของเกษตรกรทั้งหมด ดังนั้นสิ่งที่จะปลดล็อคได้ คือ การออกมาตรการฉุกเฉินและรัฐต้องยุติข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับประชาชนเรื่องที่ดิน ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ซึ่งมีข้อพิพาทว่าด้วยการบุกรุกพื้นที่ป่า รวมถึงรับรองสิทธิชุมชน , 2. แก้ปัญหาหนี้สิน โดยชาวนากว่า 40 เปอร์เซ็นต์ พบอัตราการเป็นหนี้ที่สูง โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ดังนั้นต้องแก้ไขผ่านระบบเครดิตทางเลือก , 3.ประกันราคาพืชผลเกษตรและยาฆ่าแมลง, 4.ใช้นวัตกรรมและการแปรรูป เพื่อเพิ่มราคาของสินค้าเกษตร และ 5.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรโดยประชาชนและเกษตรกร

20190726190612431

จากนั้น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ชื่นชมการอภิปรายของนายพิธา และพร้อมรับข้อเสนอดังกล่าวไปปฏิบัติ แต่แนวทางที่จะแก้ไขปัญหาเกษตรกร อาทิ ที่ดินทำกิน, การท่องเที่ยวเชิงเกษตร ต้องใช้มาตรการแก้ไขกฎหมายเพื่อปลดล็อคให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทำกินดังกล่าวได้ ขณะที่ที่ดินทำกินในส่วนของพื้นที่ป่านั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฐานะหน่วยงานที่ดูแลผืนป่าทั่วประเทศให้คนไทยต้องเป็นผู้พิจารณาด้วย ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เคยปลดล็อคพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 และ ชั้น 2 พื้นที่จ.แม่ฮ่องสอน

“ที่อภิปรายว่าคนไทยนายทุนมีเงินถือครองที่ดินของรัฐ ผมขอพูดฐานะคนที่อยู่ในตระกูล ว่า ไม่มี ยกเว้นที่ดินที่บ้าน และพร้อมรับการตรวจสอบ เฉพาะปู่ของผม หากเป็นคนละปู่ผมไม่รับรอง ทั้งนี้ผมกล้าพูดได้ว่าไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง ส่วนกรณีปัญหาไม่มีไฟฟ้า หรือน้ำประปาใช้ ตามหลักการหากขอเลขที่บ้าน ไม่ว่าชั่วคราว หรือ ถาวร สามารถขอน้ำ และไฟได้ แต่หากเป็นพื้นที่ป่าไม่สามารถปักเสาได้เพราะถือว่าผิด ทั้งนี้เคยมีข้าราชการเคยทำ และโดนลงโทษฐานะมีพฤติกรรมประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง” พล.อ.อนุพงษ์ ชี้แจง

ต่อจากนั้นเป็นการทำหน้าที่ของนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ขอหารือต่อประเด็นที่ตัดสิทธิ์การอภิปรายของพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย หลังจากที่ถูกเชิญออกจากห้องประชุมเมื่อช่วงดึกวันที่ 25 กรกฏาคม ทำให้นายชวน ชี้แจงว่า ตนได้สอบถามประธานในที่ประชุมต่อกรณีดังกล่าว ถือว่าเรื่องดังกล่าวจบแล้ว และจะอภิปรายได้ต่อเมื่อมีญัตติ หรือประเด็นอื่นนำเสนอต่อที่ประชุม อย่างไรก็ตามตนมีความผูกพันกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ไม่ต้องการใช้ความผูกพันส่วนตัวทำลายหลักการของข้อบังคับการประชุมรัฐสภา เพราะจะเป็นการเห็นแก่ตัว ที่เห็นแต่พรรคพวกอยู่เหนือหลักการ

“กรณีของ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ถือว่าจบแล้ว ดังนั้นต้องยึดหลักเพื่อทุกคน และต้องทำให้สภาเป็นที่ยอมรับของประชาชน ทั้งนี้สภา ไม่ใช่ที่เด็กเล่น หรือนึกอยากทำอะไรก็ทำ หากไม่ยึดกติกา เห็นแก่พวก ถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้นผมขอความร่วมมือสมาชิก ทั้งนี้สิ่งที่ผมตัดสินคือการยึดหลักของสภา เพื่อให้สภาเป็นที่ยอมรับของประชาชน” นายชวนชี้แจง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเด็นดังกล่าวยังมีผู้ประท้วงต่อเนื่องและส.ส.พรรคฝ่ายค้าน อาทิ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ประท้วงว่า ส.ส.สามารถอภิปรายกี่ครั้งก็ได้ หากเห็นว่ามีความเหมาะสมและขึ้นอยู่กับข้อตกลงของฝ่ายค้าน เหมือนที่รัฐมนตรีสามารถชี้แจงได้หลายครั้ง ทำให้นายชวน สอบถามขึ้นว่า “มีหรือไม่ที่บุคคลที่เสนอชื่ออภิปรายสามารถอภิปรายซ้ำกันได้ 2 ครั้ง” ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ ไม่สามารถตอบได้ ทำให้นายชวนกล่าวตัดบทว่า ด้วยความเคารพ ขอให้เข้าสู่การอภิปรายต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าก่อนหน้านั้น นายวิรัช รัตนเศรษฐ​ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ชี้แจงผลหารือเวลาอภิปราย ว่า เวลาของคณะรัฐมนตรี ยังเหลือ 2 ชั่งโมง พรรคร่วมพรรคฝ่ายค้าน 5 ชั่วโมง พรรคพลังประชารัฐ เหลือเวลา 60 นาที ส่วน พรรคภูมิไทยใจ พรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิก ส.ว. รวมกันประมาณ 2-3 ชั่วโมง ดังนั้นคาดว่าการอภิปรายในวาระดังกล่าวจะจบลงภายในเวลา 02.00 น. ของวันที่ 27 กรกฏาคม