'สถิตย์' แนะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีขอบเขต เน้นส่งออกอาเซียนและการค้าชายแดน

'สถิตย์' แนะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีขอบเขต เน้นส่งออกอาเซียนและการค้าชายแดน

"สถิตย์" ส.ว. แนะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีขอบเขต เน้นส่งออกอาเซียนและการค้าชายแดน พร้อมชูประเด็นเศรษฐกิจดิจิทัลและการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.62 นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในการแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาว่า เศรษฐกิจไทยที่ผ่านมา ขยายตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ ในปี 2557 ขยายตัวร้อยละ 1.0 ปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ปี 2559 ขยายตัวร้อยละ 3.4 ปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 4.0 และในปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.1 เป็นการบริหารเศรษฐกิจมหภาคที่ดีและเติบโตต่อเนื่องตลอดมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า ปี 2562 เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากร้อยละ 3.6 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อันเนื่องมาจากสงครามการค้า หรือ Trade War รวมทั้งสงครามเทคโนโลยีหรือ Tech War ที่รุนแรงยิ่งขึ้นทุกที เป็นเหตุให้เศรษฐกิจไทยพลอยชะลอตัวตามไปด้วย

หนทางในการรับมือความผันผวนของเศรษฐกิจโลกคือการสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจภายใน กล่าวโดยเฉพาะเจาะจงคือการขยายตัวการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลได้วางนโยบายไปในแนวทางนี้อยู่แล้ว โดยการใช้มาตรการในการใช้จ่ายงบปประมาณเพื่อให้เม็ดเงินเข้าสู่ศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อกระตุ้นเสรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ต้องเป็นไปตามหลัก 4T คือ 1) Target ต้องตรงเป้าหมาย, 2) Timely ต้องทันเวลา, 3) Temporary ต้องเป็นมาตรการชั่วคราว และ 4) Transparency ต้องมีความโปร่งใส เพื่อให้การใช้งบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และตรงเป้าหมายอย่างแท้จริง เพื่อที่จะได้เหลือพื้นที่ทางการคลัง (Fiscal space) สำหรับใช้จ่ายงบประมาณที่จำเป็นเพื่อการพัฒนาประเทศในเรื่องอื่นต่อไป

นโยบายในการเพิ่มช่องทางการส่งออกที่แถลงไว้นั้นถือเป็นนโยบายที่สำคัญ ที่จะทำให้ชดเชยการส่งออกที่ชะลอตัวลง แต่เดิมการส่งออกจะให้ความสำคัญกับประเทศที่นำเข้าหลัก คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และ ญี่ปุ่น ต่อมาคือประเทศจีน แต่ปัจจุบันการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศนั้น ได้ขยายตัวไปมากถึงร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมด เป็นการส่งออกที่มีปริมาณมากกว่าแต่ละประเทศหลัก 4 ประเทศที่กล่าวไว้แล้ว จึงหวังว่าในการเพิ่มช่องทางการส่งออกนั้น รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการค้าภายในอาเซียนมากขึ้น รวมทั้งการค้าชายแดนที่นับวันจะขยายตัวมากเพิ่มขึ้นตามการขายตัวของโครงสร้างพื้นฐานคมนาคม เพื่อทำให้การค้าชายแดนขยายตัวไปมากกว่านี้ จะต้องเร่งสร้างจุดเชื่อมต่อการค้าให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จุดเชื่อมต่อการค้าในภาคตะวันตกกับพม่า ตั้งแต่ประจวบคีรีขันธ์ ไปยังระนอง กาญจนบุรี แม่สอด แม่สาย แม่ฮ่องสอน เพื่อที่จะทำให้การค้าชายแดนทางแถบตะวันตกได้ขยายตัวมากขึ้น เพราะประเทศเพื่อนบ้านเชื่อถือและไว้ใจในคุณภาพของสินค้าไทย การส่งสินค้าออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านจะได้ประโยชน์จากการส่งออกอย่างเต็มที่ เพราะการส่งออกดังกล่าวเป็นสินค้าที่ประกอบด้วยวัตถุดิบของไทยล้วนๆ

นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลที่ได้แถลงในครั้งนี้นั้น เห็นได้ชัดเจนว่านอกจากการท่องเที่ยวเมืองหลัก เมืองรองแล้ว ยังได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนอีกด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การท่องเที่ยวนั้นลงไปสู่ประชาชนในทุกระดับ

การใช้งบประมาณเพื่อการลงทุนนั้น คงจะครอบคลุมเป็นการลงทุนของรัฐวิสาหกิจด้วย และนอกจากนั้นก็หวังว่าจะได้มีการเร่งนำเข้าสินค้าทุน เพื่อที่จะให้ดุลการค้าดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลอยู่มากได้ลดลง อันจะช่วยลดแรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาทอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลกลับมาช่วยการส่งออก และทำให้เกษตรได้รับราคาของสินค้าเกษตรส่งออกเป็นเงินไทยเพิ่มมากขึ้น

แม้จะไม่ได้เขียนไว้ในนโยบาย แต่ในส่วนของมาตรการสนับสนุนจากภาคการเงินนั้น ท่านรองนายกรัฐมนตรีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้ให้สัมภาษณ์แล้วว่าจะให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสนับสนุนเกษตรกร ให้ธนาคารออมสินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในเมือง และธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางขนาดย่อม หรือ ธนาคารเอสเอ็มอี (SME) ดูแลธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)

ส่วนการวางรากฐานเพื่อเศรษฐกิจในอนาคตนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการวางรากฐานของเศรษฐกิจดิจิทัล และเดินตามแนวทางการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในวันแรกของการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีได้มอบหนังสือให้คณะรัฐมนตรีอ่าน 3 เล่ม หนังสือทั้ง 3 เล่มที่ว่านั้นก็คือ 1) เศรษฐกิจดิจิทัล โดย ดอน แท็บสก็อต ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจดิจิทัล 2) การปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 และ 3) ทางรอดในโลกใบใหม่แห่งการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดย เคลาส์ ชวาบ ประธานบริหารของเวิลด์อีโคโนมิคฟอร์รั่ม เพราะว่าความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในอนาคตนั้นอยู่ที่เศรษฐกิจดิจิทัล และอยู่ที่เศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการปฎิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ถ้าหากหนังสือที่ท่านนายกรัฐมนตรีมอบให้คณะรัฐมนตรีพร้อมลายมือชื่อในวันนั้น หากคณะรัฐมนตรีได้อ่านหนังสือทั้ง 3 เล่ม และนำไปขยายนโยบายรัฐบาล ก็จะรองรับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตได้เป็นอย่างดี และนำไปขยายเป็นนโยบายเพิ่มเติม เศรษฐกิจในอนาคตของไทยจะแข็งแกร่งและมีความสามารถในการแข่งขันในอนาคตได้เป็นอย่างดี