The Current War สงครามไฟฟ้าเปลี่ยนโลก

The Current War สงครามไฟฟ้าเปลี่ยนโลก

เอ็นไอเอเปิดเวทีเสวนาถอดมุมมองประสบการณ์ธุรกิจนวัตกรรมผ่านภาพยนตร์ “THE CURRENT WAR สงครามไฟฟ้า คนขั้วอัจฉริยะ” ในบริบทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจ ที่เด็กและเยาวชน นักวิจัยรุ่นใหม่รวมถึงวิสาหกิจเริ่มต้นควรที่จะศึกษา

“THE CURRENT WAR สงครามไฟฟ้า คนขั้วอัจฉริยะ” ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์ที่จะพาผู้ชมเข้าสู่สงครามกระแสไฟฟ้าต่างขั้วของสองยอดนักประดิษฐ์อัจฉริยะเพื่อพิสูจน์ว่า “ทฤษฎีกระแสไฟ” ของใครคือของจริงระหว่าง “โทมัส เอดิสัน” ผู้คิดค้นไฟฟ้ากระแสตรง และ “นิโคลา เทสลา” ผู้พัฒนาไฟฟ้ากระแสสลับ ที่ต้องหักล้างกันด้วยทฤษฎีจนก่อให้เกิดการนำพาแสงสว่างมาสู่คนทั้งโลก

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจและการแข่งขันที่สำคัญในหลายประเทศทั่วโลก ภาพยนตร์เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีว่า การพัฒนาด้านดังกล่าวไม่ได้อาศัยเพียงแค่ความชาญฉลาด หรือองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงอยางเดียวเท่านั้น แต่จะต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น นักลงทุน เครือข่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดการแพร่กระจายทางเทคโนโลยีพร้อมก่อให้เกิดมูลค่าในเชิงพาณิชย์ และถูกนำไปใช้มากขึ้น


นอกจากนี้ The Current War ยังสะท้อนถึงกลยุทธ์ทางธุรกิจของ “เจ.พี. มอร์แกน” กับ “จอร์จ เวสติงเฮาส์” นายทุนใหญ่ในยุคนั้นที่มีอำนาจในการปล่อยเงินกู้ สินเชื่อ แต่การรับรู้ยังไม่มากเท่ากับนักลงทุนรายใหญ่ในปัจจุบัน  ขณะที่กระบวนการให้ทุนเปรียบเสมือนเป็นวีซี (Venture Capital) ซึ่งเข้ามาลงทุนตั้งแต่ ซีดฟันด์ในธุรกิจขั้นเริ่มต้น ทั้งยังพยายามคิดและพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม โดยคิดค้นนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อผลักดันบริษัทของเอดิสันไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้น


“เนื้อหาภาพยนตร์ได้แตะโมเดลที่คล้ายบล็อกเชนในตอนนี้ เพื่อกระตุ้นให้คนหันไปหาการเงินรูปแบบใหม่ๆ ทั้งนี้ เจ.พี.ทดลองใช้สินค้าของเอดิสันด้วยตัวเอง เมื่อเห็นว่าเวิร์ค ก็ลงเงินและเกิดการพัฒนาต่อเนื่อง มีการเทคโอเวอร์ควบรวมให้ธุรกิจใหญ่ขึ้น เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ถือเป็นโมเดลอุตสาหกรรม 3.0 ที่ต้องมีสถาบันการเงินแบ็คอัพและมีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน เช่น จีนมีรัฐบาลสนับสนุนทุน ส่วนสหรัฐเติบโตได้ด้วยระบบทุนนิยม”

จากภาพยนตร์สู่แนวคิดที่น่าสนใจ ปริญญ์ มองว่า แรงบันดาลใจที่จะกระตุกต่อมให้คิดนอกกรอบ เปลี่ยนโลก เกิดได้ ไม่ใช่แค่จากการแข่งขัน แต่มาจากอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งในโลกปัจจุบัน เหมืองทองคือ ข้อมูล แต่ก็ต้องมีการกลั่นกรองผ่านระบบต่างๆ ก่อนนำไปใช้ ซึ่งกฎหมายต้องสนับสนุน และตามให้ทัน ไม่ใช่การออกกฎจำกัด ยกตัวอย่างจีนมีความคล่องตัวทางกฎหมายมากและเติบโตได้เร็วโดยเฉพาะเทคโนโลยีเอไอ แมชชีนเลิร์นนิ่ง ที่ต้องการข้อมูลมาเสริม ทำให้ปัจจุบันเป็นเรื่องของสงครามข้อมูลและสงครามเทคโนโลยี

“สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความจริงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาลอยู่เสมอ อีกทั้งเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีอยู่ในชีวิตประจำวันของเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็น สินค้าหรือบริการ และยังเป็นอาวุธที่ที่สำคัญที่จะพลิกโฉมอุตสาหกรรมและภาคส่วนต่างๆให้มีศักยภาพได้ดียิ่งขึ้น” ปริญญ์ กล่าว

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือเอ็นไอเอ กล่าวว่า ประเด็นการแข่งขันธุรกิจด้านเทคโลยีและนวัตกรรมกำลังถูกพูดถึงและทวีความสำคัญในหลายประเทศทั่วโลกทั้งจีน สหรัฐ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลี ฯลฯ ที่ต่างพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้ทันสมัย ชาญฉลาดรวมถึงเรื่องความปลอดภัยและการเข้าถึงข้อมูลต่างๆ สิ่งเหล่านี้ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศผู้พัฒนาเทคโนโลยีรวมทั้งสะท้อนให้เห็นถึงตัวเลขและมูลค่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่างขับเคลื่อนด้วยสินค้าและบริการทางนวัตกรรม นอกจากนี้ การเกิดขึ้นของประเด็นดังกล่าวยังสามารถช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับแต่ละประเทศได้อีกหลากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็น ความมั่นคง การพัฒนาสังคม การศึกษา คุณภาพชีวิต ทั้งยังเป็นเครื่องมือในการลดอุปสรรคปัญหาที่กำลังเผชิญหรือรอการแก้ไขได้เป็นอย่างดี


ด้านพันเอกสรรพชัย หุวะนันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม ให้แง่คิดว่า การพัฒนานวัตกรรมรุ่นเก่าๆ ใช้เวลาหลายสิบถึงร้อยปี แต่รุ่นหลังระยะเวลาสั้นลงลดเหลือสิบปี ขณะที่อายุการใช้งานหรือไลฟ์ไซเคิลของสินค้าก็สั้นลง ดังนั้น การวิจัย พัฒนา ประดิษฐ์ เพื่อเพิ่ม “ผลผลิต” (Productivity) เป็นคีย์เวิร์ด และถ้ามองเห็นปัญหาแล้วหาทางทำให้ดีขึ้น คุณคือ นวัตกร

ทวีศักดิ์ ศิริสืบ หัวหน้ากองวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า เนื้อหาของเรื่องที่เกิดการถกเถียงถึงข้อดี ข้อเสียของไฟฟ้ากระแสตรงและกระแสสลับ โดยไฟฟ้ากระแสตรงจะทำได้ในขอบข่ายที่ไม่กว้าง ครั้งแรกที่เอดิสันทำนั้นรองรับได้แค่ 50 ครัวเรือน ซึ่งไม่คุ้มค่าในมุมธุรกิจแต่คนที่รวยคือ บริษัททำสายทองแดง ในขณะที่ไฟฟ้ากระแสสลับทำได้ในพื้นที่ที่กว้างกว่า แต่ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้ากระแสตรงหรือกระแสสลับ ต่างก็ดีทั้งคู่ ขึ้นอยู่กับสถานที่และรูปแบบการใช้งาน และจะเห็นว่า แม้จะเป็นข้อจำกัดบางอย่าง เช่น แรงดันไฟฟ้าที่เมื่อมีการใช้ไฟฟ้ามาก แรงดันขึ้น ขดลวดในหลอดไฟขาด เมื่อเกิดบ่อยครั้งก็นำไปสู่การพัฒนาหลอดไฟรูปแบบใหม่

ภาพยนตร์กล่าวถึงจุดพลิกผันของเทสลากับการตัดสินใจย้ายข้างนายทุนทำให้เผชิญวิบากกรรม แต่ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้เกิดการพัฒนามอเตอร์ไฟฟ้าที่มีความเสถียร และทำให้กิจการของเจ.พี.เติบโตจนถึงทุกวันนี้ แต่ในมุมของผู้ผลิตไฟฟ้า ประเด็นที่น่าสนใจก็มีเรื่องของการเข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทหม้อแปลงไฟฟ้า พร้อมจุดประเด็นเรื่องของการพัฒนาหม้อแปลงไฟในอนาคต โดยเฉพาะในเรื่องการปรับกระบวนการแปลงไฟฟ้าให้เสถียร ถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจทั้งทางธุรกิจและทางเทคโนโลยี