ประชาชนลุ่มน้ำโขงยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

ประชาชนลุ่มน้ำโขงยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราว ระงับการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี

ทนายความและตัวแทนเครือข่ายฯ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา

ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน และนายชาญณรงค์ วงศ์ลา ตัวแทนเครือข่ายฯ ผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการ ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ ขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยขอให้ระงับหรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้ลงนามทำสัญญาซื้อไฟฟ้า กับบริษัทไซยะบุรี พาวเวอร์

นส.เฉลิมศรี กล่าวว่า ในเวลานี้ได้เกิดวิกฤติน้ำโขงซึ่งเหือดแห้งกระทันหันโดยเฉพาะในเขตพรมแดนไทยลาว ท้ายน้ำจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี ทำให้ประชาชนไทยที่อาศัยในชุมชนริมโขงในจังหวัดเลย หนองคาย และจังหวัดภาคอีสานอื่นๆ ที่ติดลำน้ำโขงได้รับผลกระทบ

ในคำฟ้องที่ยื่นศาลได้ระบุว่าถึงข้ออ้างที่ว่าเมื่อโครงการเขื่อนไซยะบุรีสร้างเสร็จแล้ว จะปล่อยน้ำไหลผ่านในแต่ละวันเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลเข้า โดยไม่มีการกักเก็บน้ำไว้ ซึ่งจะทำให้น้ำในลุ่มน้ำโขงจะเป็นปกติตลอดทั้งปี แต่เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกลับตรงกันข้าม โดยพบว่า ระดับน้ำท้ายน้ำจากเขื่อนลดลงอย่างกระทันทัน ส่งผลกระทบต่อ ปลา สัตว์น้ำ ระบบนิเวศ พืช และระบบประปาที่สูบน้ำโดยตรงจากแม่น้ำโขง 

และเมื่อมีการประกาศว่ามีการดำเนินการทดลองผลิตไฟฟ้า ก็เกิดเหตุการณ์ปลาแห้งตายตามแก่ง แพสูบน้ำประปาค้างริมตลิ่ง เรือค้างตามหาด

ในคำร้องจึงระบุว่า ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างเฉียบพลัน  เป็นผลโดยตรงจากการการกักเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้าของเขื่อนไซยะบุรี และยังได้อ้างถึงการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่1 (กฟผ.) เริ่มรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการไซยะบุรีมาตั้งแต่เดือนเมษายน

“เป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันไฟฟ้าสำรองในประเทศไทยมีปริมาณมาก แต่กลับมีขายส่งให้แก่ประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่ได้เป็นไปเพื่อส่งเสริมสาธารณูปโภคของประเทศอันเป็นประโยชน์สาธารณะอีกต่อไป อีกทั้งการรับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้าก่อนกำหนดในสัญญารับซื้อไฟฟ้าในเดือนตุลาคม ยังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญของภูมิภาคนี้ ย่อมเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” นส.เฉลิมศรีกล่าว

เธอยังกล่าวอีกว่า หากเขื่อนไซยะบุรีดำเนินการเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม ย่อมก่อให้เกิดความผันผวนและผกระทบรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อผู้ฟ้องคดี และประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหายจนมิอาจหลีกเลี่ยงได้

นายชาญณรงค์ วงศ์ลา ประชาชนจาก อ.เชียงคาน จ.เลย กล่าวว่า  ตนเองได้เริ่มฟ้องคดีนี้ตั้งแต่ พ.ศ. 2555 ผลกระทบได้เกิดขึ้นเป็นเชิงประจักษ์ นับตั้งแต่มีการทดลองผลิตไฟฟ้าจากเขื่อน โดยเฉพาะในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งหลังจากทางการลาวประกาศว่ามีการทดลองผลิตไฟฟ้า โดยที่ประชาชนไม่ทราบข้อมูลใดๆ 

“หวังว่าศาลจะพิจารณาคำร้อง มีคำสั่งคุ้มครองเพื่อหามาตรการบรรเทาผลกระทบ ด้วยการชะลอการรับซื้อไฟฟ้า และหาทางออกแก่แม่น้ำโขงและประชาชนในทันที” นายชาญณรงค์กล่าว

คดีไซยะบุรีที่ศาลปกครองเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐไทย อาทิ กฟผ. ซึ่งศาลปกครองสูงสุดรับฟ้อง ในเรื่องการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเผยแพร่ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็น การประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน 

เขื่อนไซยะบุรี  เป็นเขื่อนแรกที่สร้างบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ในแผนการก่อสร้างจำนวนทั้งสิ้น 11 โครงการ โดยตัวเขื่อนซึ่งจะมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ในจังหวัดไซยะบุรี สปป.ลาว ห่างจากหลวงพระบางราว 80 กม. และห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ราว 200 กม. 

เขื่อนไซยะบุรี เป็นการลงทุนของบริษัท ช.การช่าง โดย โดยมีธนาคารไทย 6 แห่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1,220 เมกกะวัตต์ เป็นเวลา 29 ปี และจะเริ่มขายไฟฟ้าตามสัญญาเดือนตุลาคมนี้

เขื่อนได้มีการแก้ไขแบบ (designs) โดยเฉพาะทางปลาผ่านและทางเรือผ่านเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบเรื่องการอพยพของปลา และระบบระบายตะกอน หลังมีการหยิบยกประเด็นข้อห่วงใยถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงโดยภาคประชาสังคมลุ่มน้ำโขง แต่ผลการ review ชี้ว่าน่าจะยังไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดน