'อุตตม' แจงทำงบขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

'อุตตม' แจงทำงบขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

“อุตตม” แจงทำงบขาดดุล หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ยืนยันรักษาวินัยการเงินการคลังแบบเข้มข้น ย้ำหนี้สาธารณะไทยยังแค่ 42% ต่างชาติเชื่อถือสะท้อนผ่าน “มูดี้ส์-ฟิทช์” ปรับมุมมองดีขึ้น

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวชี้แจงในที่ประชุมการอภิปรายนโยบายรัฐบาลโดยระบุว่า สาเหตุที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณขาดดุลในช่วงที่ผ่านมาก็เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งการตั้งงบประมาณของรัฐจะดูจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมไปถึงนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ

“ถ้าดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยในปี 2557-2559 ช่วงนั้นเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงมาก รัฐบาลจึงต้องตั้งงบประมาณขาดดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ จูงใจให้เอกชนลงทุน ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ และก็มีผลให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากระดับ 1% ในปี 2557 เป็น 4% ในปี 2561”

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะตั้งงบประมาณขาดดุล แต่ก็ยังอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลัง ขณะเดียวกันจะเห็นว่า หนี้สาธารณะต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ยังปรับลดลงด้วย โดยในปี 2557 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 43.3% ขณะที่ปัจจุบันอยู่ระดับ 42% โดยที่กรอบวินัยการเงินการคลัง กำหนดหนี้สาธารณะไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า รัฐบาลยังมองไปข้างหน้าถึงแผนระยะกลางและระยะยาวด้วย โดยได้จัดทำแผน 3-5 ปี เป็นกรอบการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดงบประมาณ โดยดูว่าจะสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้เมื่อไหร่

ส่วนการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ นายอุตตม กล่าวว่า รัฐบาลได้ขอให้ ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ(เอสเอฟไอ) ช่วยให้คนมีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ได้

นายอุตตม กล่าวว่า ปัจจุบัน เอสเอฟไอ ไม่ว่าจะเป็นธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคครัวเรือนไปแล้ว 3.8 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์

นอกจากนี้รัฐบาลยังพยายามพัฒนาแหล่งเงินทุนทางเลือก เช่น นาโนไฟแนนซ์ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ด้วย ขณะเดียวกันยังนำเทคโนโลยี เช่น บิ๊กดาต้า มาช่วยสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย

นายอุตตม กล่าวด้วยว่า หนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น เป็นการเติบโตตามเศรษฐกิจ และหนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อสร้างรายได้ รวมทั้งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ แต่อย่างไรก็ตามกระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ร่วมมือกับ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ดูแลการก่อหนี้แบบครบวงจร เพื่อให้ประชาชนก่อหนี้อย่างเหมาะสม ขณะนี้กำลังศึกษาว่าสัดส่วนการก่อหนี้ของแต่ละคนควรอยู่ที่เท่าไร