กนอ.รุกใช้เทคโนโลยีติดตามการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม

กนอ.รุกใช้เทคโนโลยีติดตามการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม

กนอ.รุกใช้เทคโนโลยีติดตามการกำจัดกากขยะอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นทาง-ปลายทาง เตรียมชงบอร์ดของบฯ 12 ล้าน นำร่องนิคมภาคเหนือ ก่อนขยายผลไปครบ 12 นิคมทั่วประเทศ หวังแก้ปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอันตรายนอกเส้นทาง

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.62 นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่าเพื่อพัฒนาระบบการติดตามกากอุตสาหกรรมอันตรายจากนิคมอุตสาหกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น กนอ.จะทำโครงการนำร่อง (pilot project) การติดตามกากขยะอุตสาหกรรมที่ออกจากนิคมอุตสาหกรรมไปกำจัดยังสถานที่ต่างๆ ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางโดยใช้เทคโนโลยีและระบบไอทีเข้ามาช่วย โดยจะนำร่องโครงการนี้ที่นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน โดยใช้งบประมาณปี 2562 วงเงินลงทุนไม่เกิน 12 ล้านบาท

ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน มีจำนวนโรงงาน 76 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทำให้มีกากขยะอันตรายที่ต้องนำไปกำจัดอย่างถูกวิธีอยู่พอสมควร ขณะเดียวกันยังมีทางเข้าออกนิคมอุตสาหกรรมแค่ทางเดียวทำให้ง่ายต่อการติดตั้งระบบติดตามและชั่งน้ำหนักรถบรรทุกที่ผ่านเข้าออกนิคม

นายจักรรัฐ กล่าวว่าการดำเนินการได้เสนอให้คณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงของกนอ.อนุมัติภายในเดือน ส.ค.และให้. บริษัท โกลบอล ยูทิลิตี้ เซอร์วิส จำกัด Gusco บริษัทร่วมทุนของ กนอ. เป็นผู้ดำเนินการคาดว่าจะสามารถเริ่มดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2562 นี้

“ปัจจุบัน กากขยะอุตสาหกรรมอันตรายในนิคมฯ ทั่วประเทศอยู่ที่ประมาณ 3 ล้านตัน ซึ่งต้องมีระบบติดตามการขนส่งกากขยะไปจัดการอย่างถูกวิธี ซึ่งที่ผ่านมาใช้ระบบแมนนวล ทำให้ยังมีปัญหาเกิดขึ้น หากมีระบบติดตามตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง มีซอฟแวร์ที่จะติดตามตลอดก็จะช่วยลดปัญหานี้ได้” นายจักรรัฐ กล่าว

ด้านนายนายก้อง รุ่งสว่าง กรรมการ กนอ.กล่าว ระหว่างการนำคณะสื่อมวลชน ศึกษาความก้าวหน้าเทคโนโลยีบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมประเทศญีปุ่นตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy )โดยศึกษาเทคโนโลยีการรีไซเคิลขยะที่มีสารปรอทเพื่อดึงกลับมาใช้ใหม่ โดยเป็นเทคโนโลยีการกลั่นปรอทขั้นสูงที่โรงงานอิโตมูกะ (Itomuka Plant) ของบริษัท โนมูระเกาะสัน จำกัด (Nomura Kohsan Co., Ltd.) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ผ่านการยอมรับจากทั่วโลก

โดยความรู้ที่ได้จะนำมาปรับใช้ในการกำกับดูแลโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมของไทยที่ กนอ.มุ่งใช้หลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการยกระดับนิคมฯทุกแห่งทั่วประเทศที่เปิดดำเนินการแล้วเข้าสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศภายในปี 2564

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการกลั่นปรอทขั้นสูงที่โรงงานอิโตมูกะ (Itomuka Plant) ของบริษัท โนมูระเกาะสัน จำกัด (Nomura Kohsan Co., Ltd.) นั้นเป็นการดำเนินธุรกิจให้บริการรีไซเคิลขยะประเภทที่ประกอบด้วยสารปรอท และการจัดเก็บของเสียจากสารปรอทที่มีประสิทธิภาพมีการบริหารจัดการขยะเป็นไปตามการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 ที่ทั่วโลกให้การยอมรับเทคโนโลยีและยกเป็นต้นแบบในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านการบำบัดและเก็บรวบรวมของเสียจากปรอทอย่างมีระบบจนสามารถนำปรอทกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งประเทศไทยก็มีขยะที่มีสารปรอทเจือปน เช่น แบตเตอรี่ หลอดไฟฟูออเรสเซนท์ และแท่นขุดเจาะน้ำมันที่มีการปลดระวาง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยส่งขยะเหล่านี้จำนวนหนึ่งมากำจัดที่ประเทศญี่ปุ่น

นอกจากนั้น ในอนาคตต้องติดตามความคืบหน้าของการบังคับใช้ปฏิญญามินามะตะ ที่ห้ามขนย้ายขยะที่ทีสารปรอทเจือปนออกจากประเทศซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านนี้เอาไว้เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต