บอร์ด กทพ.เบรคประกาศผู้ชนะด่วนพระราม 3 หลังพบข้อร้องเรียนเพิ่มเติมมีนัยยะสำคัญ

บอร์ด กทพ.เบรคประกาศผู้ชนะด่วนพระราม 3 หลังพบข้อร้องเรียนเพิ่มเติมมีนัยยะสำคัญ

บอร์ด กทพ.เบรคประกาศผู้ชนะด่วนพระราม 3 หลังพบข้อร้องเรียนเพิ่มเติมมีนัยยะสำคัญ สั่งฝ่ายบริหารเร่งตรวจสอบภายใน 1 สัปดาห์ ขณะที่สัญญางานระบบ ยกเลิกการประมูล เหตุเทคโนโลยีเปลี่ยนทุก 5 ปี

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังประชุมบอร์ดวันนี้ (25 ก.ค.) โดยระบุว่า ที่ประชุมบอร์ดยังไม่ได้อนุมัติให้มีการประกาศผลประมูลโครงการทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก อย่างเป็นทางการ เนื่องจากตรวจสอบพบว่าในช่วงที่ผ่านมายังมีผู้ร้องเรียนผลการประมูลในบางสัญญา ซึ่งบอร์ดพิจารณาแล้วพบว่าเป็นข้อมูลที่มีนัยยะสำคัญด้านเทคนิค จึงขอให้ฝ่ายบริหาร กทพ.ไปพิจารณาข้อมูลดังกล่าวอย่างละเอียดภายใน 1 สัปดาห์ หากพบว่าไม่มีปัญหาติดขัดก็สามารถประกาศผลประมูลอย่างเป็นทางการ โดยไม่ต้องนำกลับมาเข้าที่ประชุมบอร์ดพิจารณาอีก

ส่วนการประมูลสัญญา 5 งานระบบทางด่วนสายดังกล่าว ขณะนี้ทราบว่าฝ่ายบริหารได้ยกเลิกการประมูลแล้ว ด้วยเหตุผลที่การประมูลงานระบบอาจจะต้องดำเนินการหลังจากที่งานโยธาแล้วเสร็จ เพราะเล็งเห็นว่าโดยปกติแล้ว งานระบบจะมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีทุก 5 ปี จึงเกรงว่าหากประมูลในครั้งนี้ อนาคตเมื่อโครงการทางด่วนแล้วเสร็จ การวางระบบอาจจะมีเทคโนโลยีที่ไม่ทันสมัย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้ชนะการประมูลสัญญางานโยธา โครงสร้าง และไฟฟ้าส่องสว่างฉบับที่ 1-4 โครงการทางด่วนพระราม3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ด้านทิศตะวันตก ได้แก่ สัญญาที่ 1 ระยะทาง 6.4 กิโลเมตร (กม.) ราคากลาง 6,980 ล้านบาท คือ กิจการร่วมค้า CNA ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ไชนา สเตท คอนสตรัคชั่น เอ็นจิเนียริ่ง คอปอเรชั่น จำกัด,บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ. เอส. แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด ยื่นข้อเสนอต่ำสุด 5,897 ล้านบาท

สัญญาที่ 2 ระยะทาง 5.3 กม. ราคากลาง 7,242 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูลคือ กิจการร่วมค้า CTB ซึ่งประกอบด้วย China Harbour Engineering Company Limited, บริษัท ทิพากร จำกัด และบริษัท บุรีรัมย์ธงชัยก่อสร้าง จำกัด ยื่นข้อเสนอต่ำสุด 6,440 ล้านบาท
สัญญาที่ 3 ระยะทาง 5 กม. ราคากลาง 6,991 ล้านบาท ผู้ชนะการประมูล คือ กิจการร่วมค้าไชน่าเรลเวย์-ซีวิล-บุญชัย ซึ่งประกอบด้วย China Railway 11th Bureau Group Corporation,บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด และ บริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ยื่นข้อเสนอต่ำสุด 6,098 ล้านบาท และสัญญาที่ 4 สะพานขึงระยะทาง 2 กม. ราคากลาง7,944 ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ช. การช่าง จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอต่ำสุด 6,636 ล้านบาท

ขณะที่ การประมูลสัญญาที่ 5 งานระบบจัดเก็บค่าผ่านทาง ระบบควบคุมจราจร และระบบสื่อสาร ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) มีราคากลาง 876 ล้านบาท บริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด เป็นผู้ยื่นข้อเสนอเพียงรายเดียว จากผู้ซื้อเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์) ทั้งหมด 7 ราย และยื่นข้อเสนอต่ำกว่าราคากลาง 128 ล้านบาท โดยล่าสุด กทพ. ได้ยกเลิกการประกวดราคาไปแล้วเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา