ประธานบอร์ด กทพ.ข้อเสนอแลกสัมปทานด่วน 'บีอีเอ็ม' ล้างหนี้ 17 คดีเหมาะสม

ประธานบอร์ด กทพ.ข้อเสนอแลกสัมปทานด่วน 'บีอีเอ็ม' ล้างหนี้ 17 คดีเหมาะสม

ประธานบอร์ด กทพ.ยืนยันข้อเสนอแลกสัมปทานด่วน “บีอีเอ็ม” ล้างหนี้ 17 คดีเป็นทางออกที่เหมาะสม ไม่สร้างภาระผูกพันทางการเงิน พร้อมระบุหากรอศาลตัดสินทีละคดี หากแพ้อาจฉุดผลประกอบการแต่ละปีต้องติดลบ กระทบภาพลักษณ์เป็นองค์กรต้องพึ่งพารัฐบาล

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการ (บอร์ด) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ตนได้รายงานข้อมูลมติบอร์ดการยุติข้อพิพาทระหว่าง กทพ.และบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(บีอีเอ็ม) ให้กับคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาการขยายสัมปทานทางด่วนและรถไฟฟ้า (บีทีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเบื้องต้นทางกรรมาธิการวิสามัญฯ ยังมีข้อสงสัยในหลายประเด็น จึงขอให้ กทพ.ทำข้อมูลเพิ่มเติม และกลับไปรายงานให้ทราบอีกครั้งในช่วงสัปดาห์หน้า

อย่างไรก็ดี ตนยังยืนยันตามมติบอร์ด กทพ.สำหรับแนวทางยุติข้อพิพาททั้งหมด 17 คดี รวมมูลค่า 1.37 แสนล้านบาท ถือเป็นแนวทางที่จะทำให้ยุติข้อพิพาทที่ กทพ.มีร่วมกับเอกชนทั้งหมด รวม 3 ลักษณะทางคดี คือ การสร้างทางแข่งขัน การไม่ปรับค่าผ่านทางตามสัญญา และอื่นๆ ซึ่งการเจรจาร่วมกับเอกชนในช่วงที่ผ่านมาได้มีการปรับลดมูลหนี้ให้แล้วส่วนหนึ่ง หากมีการเจรจาข้อตกลงยุติคดีข้อพิพาททั้งหมดนี้ได้ จะทำให้มูลหนี้ที่มีอยู่หมดลง และ กทพ.ก็สามารถไปเน้นแผนพัฒนาโครงการในอนาคตต่อได้

“เราได้ไปยืนยันข้อมูลมติบอร์ดว่าที่ผ่านมาดำเนินการตามคำสั่งของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ไปเจรจาหาข้อสรุป ซึ่งทางกรรมาธิการฯ ขอข้อมูลเพิ่มเติมถึงคดีในช่วงที่ผ่านมาว่ามีที่มาอย่างไร มีลักษณะอย่างไร โดยขณะนี้เรากำลังเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อไปชี้แจงในนัดครั้งหน้า แต่เราก็ยังยืนยันแนวทางเดิมที่จะเจรจา ถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

นายสุรงค์ ยังกล่าวด้วยว่า จากการพิจารณาของบอร์ด กทพ.เล็งเห็นว่าแนวทางที่จะรอให้ศาลตัดสินทีละคดี ในอนาคตหากมีการตัดสินในปีเดียวมากกว่า 1 คดี จะทำให้ กทพ.ต้องจัดสรรเงินมากกว่ารายได้เพื่อไปชดใช้ค่าเสียหาย เพราะเฉลี่ยรายได้ของ กทพ.แต่ละปีอยู่ที่กว่า 5 พันล้านบาท จะต้องนำเงินบางส่วนนำส่งรัฐอีกราว 3 พันล้านบาท เหลือเป็นรายได้เข้าองค์กรกว่า 2 พันล้านบาท แต่เฉลี่ยค่าเสียหายต่อ 1 คดีพบว่ามีมูลค่าอยู่ที่ 5 พันล้านบาท

“หากรอการตัดสินแต่ละคดี และ กทพ.ถูกพิจารณาแพ้คดี จะเอาเงินไหนไปจ่าย เราต้องการบริหารความเสี่ยงในเรื่องนี้จบลง อยากจบหนี้ทั้งหมด เพราะถ้าแพ้ 1 คดี เราต้องหมดเงิน 5 พันล้ายบาท เงินนำส่งรัฐก็จะไม่มี และอาจต้องไปขอเงินสนับสนุนจากทางรัฐบาลอีก เราไม่อยากเป็นแบบนั้น แต่ท้ายที่สุดก็ต้องแล้วแต่นโยบายรัฐบาล ถือเป็นการตัดสินที่สุด”