‘ผู้ว่า กทม.’ แจงปมเตาเผาขยะ ย้ำไม่เกี่ยวรองผู้ว่าฯลาออก

‘ผู้ว่า กทม.’ แจงปมเตาเผาขยะ ย้ำไม่เกี่ยวรองผู้ว่าฯลาออก

“อัศวิน” ตั้งโต๊ะแถลงด่วนปม 2 รองผู้ว่า ฯ ลาออก ไม่เกี่ยวกับปมปัญหาเตาเผาขยะ 2 แห่ง ยืนยันว่าโครงการโปร่งใส ไม่เอื้อประโยชน์รายใดรายหนึ่ง

เมื่อวันที่ 24 ก.ค.62 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวชี้แจงกรณีนายจักรพันธุ์ ผิวงาม และนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ลาออก ว่าไม่เกี่ยวกับโครงการประกวดราคาดำเนินโครงการเตาเผาขยะที่หนองแขมและอ่อนนุช ขนาด 1,000 ตันต่อวัน รวม 2 โรง มูลค่ากว่า 13,000 ล้านบาท แต่เป็นเพราะทั้งสองคนมีปัญหาเรื่องสุขภาพและต้องการพักผ่อน โดยเฉพาะนายจักรพันธุ์ ซึ่งเคยพูดคุยว่าต้องการลาออกตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้ยอมรับว่าเสียดายที่ลาออก เนื่องจากนายจักรพันธุ์มีความสามารถทำงานเก่ง พร้อมยืนยันว่าในทีมผู้บริหารไม่ได้มีปัญหาอย่างที่มีกระแสข่าว ส่วนรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใดจะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้ต่อ ขณะนี้ยังไม่มีได้ระบุ ต้องรอให้มีการแบ่งงานกันอีกครั้ง

พล.ต.อ.อัศวิน ยังได้กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า จำนวนเงิน 13,000 บาท มีการดำเนินการในระยะเวลา 20 ปี ไม่ได้จ่ายให้เอกชนภายในครั้งเดียว อีกทั้งขณะนี้ยังไม่ได้มีการเคาะว่าเอกชนทั้ง 8 รายที่ผ่านหลักเกณฑ์รายใดจะเป็นผู้ชนะ และการในประกวดราคาครั้งนี้ไม่มีการล็อกสเปกอย่างแน่นอน โดยได้ดำเนินการตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง อีกทั้งได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช., สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. และศาลปกครองกลาง หากหน่วยงานอื่นจะเข้ามาตรวจสอบเพิ่มเติมก็สามารถทำได้ จึงขอยืนยันว่าจะเดินหน้าดำเนินโครงการนี้ต่อซึ่งหากผิดก็ว่าไปตามผิด และหากผิดจริงก็พร้อมที่จะติดคุก

พล.ต.อ.อัศวิน ยังขอใช้เกียรติเป็นประกันว่าโครงการนี้โปร่งใสไม่มีการทุจริตอย่างแน่นอน และตนเองจะไม่เอาชื่อเสียงที่สั่งสมทั้งหมดมาทิ้งกับเรื่องนี้แน่นอน

ด้าน นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมกรุงเทพมหานคร เปิดเผยรายละเอียดถึงการเปิดประมูลโครงการเตาเผาขยะอ่อนนุชและหนองแขม ว่าเป็นไปตามกฎหมายในการมอบหมายงานให้เอกชนดำเนินงานแทน ซึ่งคือการให้เอกชนลงทุนจำนวน 3,000 ล้านบาท ในการติดตั้งเครื่องจักรและดำเนินการทั้งหมด แต่ไม่ใช่ลักษณะของการทำงานแทน ซึ่งเมื่อการดำเนินการเสร็จสิ้นและครบสัญญาทรัพย์สินนี้ก็จะตกเป็นของกรุงเทพฯ

“การเปิดการประมูลมีเพียงบริษัทเอกชนเพียง 8 รายที่เข้าเงื่อนไขไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ใครรายใดรายหนึ่ง โดยลักษณะของการดำเนินโครงการเรียกว่าวิธีการ BOT หรือ Build Operate and Transfer คือเอกชนได้รับสิทธิ ตามสัญญาสัมปทานจากรัฐบาลในการลงทุนก่อสร้างและ ดำเนินงาน เพื่อหาผลตอบแทนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งในระหว่างการดำเนินงานดังกล่าวกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์นั้น จะเป็นของภาคเอกชน แต่หลังจากการสิ้นสุดอายุสัมปทาน กรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ที่ลงทุนจะถูกโอนให้แก่รัฐบาลเพื่อเป็น การตอบแทน”