สรุปโครงการอาหารกลางวัน

สรุปโครงการอาหารกลางวัน

เผยปี 2562 โรงเรียนสังกัดสพฐ.ได้รับงบจากอปท.แบ่งเป็นโรงเรียนได้รับงบประมาณก่อนเปิดภาคเรียนตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.62 จำนวน 9,239 แห่ง โรงเรียนได้รับงบประมาณระหว่างวันที่ 17 พ.ค.– 10มิ.ย. 62 จำนวน 11,801แห่ง

จากกรณีที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ได้มีการทำหนังสือแจ้งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) ทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนที่ได้รับการจัดสรรงบอาหารกลางวันให้แล้วเสร็จในวันที่ 22 ก.ค.นั้น

วานนี้ (24 ก.ค.) นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน (สกก.) ของสพฐ. ได้สรุปภาพรวมการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนประถมศึกษาทั่วประเทศ ปี2562 พบว่า วิธีการจัดสรรงบประมาณจะผ่านไปทาง องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยโรงเรียนจะทำโครงการและข้อมูลจำนวนนักเรียน เพื่อของบประมาณค่าอาหารกลางวันให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค.2562 ของแต่ละปี ซึ่งจะจัดส่งข้อมูลให้ องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)และเทศบาล เพื่อจะได้รับจัดงบประมาณ ให้ทันก่อนเปิดภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา ปัญหา คือในแต่ละปี อปท.จะจัดสรรงบประมาณให้ไม่ทันเปิดภาคเรียน

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ.2562 จากการสำรวจช่วงเวลาที่โรงเรียนที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนโครงการอาหารกลางวันจาก อปท. โรงเรียนที่ตอบแบบสำรวจจำนวน 23,655 โรงเรียน คิดเป็น 86.93% จากจำนวนโรงเรียนสังกัด สพฐ.ทั้งหมด 27,212 โรงเรียน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ก.ค. 62) พบว่า โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อนเปิดภาคเรียนหรือได้รับงบประมาณตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค.62 จำนวน 9,239 แห่ง โรงเรียนได้รับงบประมาณระหว่างวันที่ 17 พ.ค.– 10มิ.ย. 62 จำนวน 11,801แห่ง และโรงเรียนได้รับงบประมาณหลังวันที่ 10 มิ.ย.62 จำนวน 2,615 แห่ง
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อว่า การสำรวจการดำเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ระหว่างวันที่ 8 – 20 ก.ค. 2562 จาก22,956 โรงเรียน พบว่า มีโรงเรียนจัดซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารเอง จำนวน 4,835 โรง ของจำนวนโรงเรียนที่สำรวจข้อมูล 2.โรงเรียนจัดซื้อวัตถุดิบและจ้างบุคคลภายนอกมาประกอบอาหาร จำนวน 10,455 โรง คิดเป็น 45.54% 3.จ้างเหมาประกอบอาหาร (ปรุงสำเร็จ) จำนวน 7,161 โรงเรียน คิดเป็น 31.19% ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน สพฐ. ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการจัดทำคู่มือการดำเนินงานกองทุน ฯ อบรมวิทยากรแกนนำ จัดสรรงบประมาณโครงการทุนหมุนเวียนส่งเสริมผลผลิตเพื่อโครงการอาหารกลางวันด้วย รวมถึงยังได้มีการกำกับติดตามอาหารกลางวันของนักเรียนปีการศึกษาละ 2 ครั้ง เพื่อรับทราบสภาพปัญหาโดยภาพรวมโรงเรียนสามารถจัดบริการอาหารกลางวันให้นักเรียนได้รับประทานทุกวันทุกโรงเรียน

“โรงเรียนมีปัญหาการดำเนินโครงการอาหารกลางวัน หลายประเด็น เช่น งบประมาณไม่เพียงพอสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก การดำเนินการจัดทำหลักฐานการเบิกจ่ายไม่ครบถ้วน ขาดบุคลากรที่รับผิดชอบโดยตรง หรือไม่สามารถดำเนินโครงการเกษตรเพื่อโครงการอาหารกลางวันได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้บางโรงเรียนยังมีการนำงบประมาณไปช่วยเหลือโรงเรียนที่มีนักเรียนขยายโอกาสด้วย โดยจะนำข้อมูลสรุปภาพรวมการบริหารจัดการทั้งหมดเสนอให้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ รับทราบและวางแนวทางขับเคลื่อนการบริหารจัดการโครงการอาหารกลางวันให้มีประสิทธิภาพต่อไป” นายสุเทพ กล่าว