สกัดสินค้า 'เลี่ยงภาษีมะกัน' ภารกิจกู้ชื่อเวียดนาม

สกัดสินค้า 'เลี่ยงภาษีมะกัน' ภารกิจกู้ชื่อเวียดนาม

รัฐบาลเวียดนามเอาจริง เริ่มใช้มาตรการปราบปรามการขนส่งผลิตภัณฑ์จากจีนและที่อื่น ๆ ที่ผ่านเวียดนามและติดป้ายว่าเป็นสินค้าเวียดนามเพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐ

การปราบปรามครั้งนี้มีขึ้นหลังมีรายงานอย่างต่อเนื่องจากหนังสือพิมพ์ต่วยแจ๋ที่ระบุว่า โทรทัศน์ที่อ้างว่าผลิตในเวียดนามโดย “อาซันโซ” ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เป็นสินค้าเข้านำเข้าจากจีนเกือบทั้งหมด

รายงานดังกล่าวเปิดโปงว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญที่สุดของแรงงานในโรงงานเวียดนามคือการลบคำว่า“ผลิตในประเทศจีน” ออกจากสติกเกอร์ที่ติดบนจอแอลซีดีทุกชิ้นที่นำเข้าจากแดนมังกร

หลังจากนำมาประกอบโดยผ่านกระบวนการ 6 ขั้นตอนแล้ว โทรทัศน์เหล่านี้จะถูกจำหน่ายโดยโฆษณาว่าเป็นสินค้าผลิตในเวียดนามด้วยเทคโนโลยีของญี่ปุ่น นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น เตาไมโครเวฟก็ถูกนำเข้าแบบสำเร็จรูป

การเปิดโปงครั้งนี้สร้างปัญหาให้กับรัฐบาลฮานอย เนื่องจากเวียดนามได้รับประโยชน์มหาศาลจากการไหลเข้าของบรรดาบริษัทที่ย้ายฐานผลิตออกจากจีน ท่ามกลางสงครามการค้าที่ยังไม่มีแนวโน้มสงบ

ขณะเดียวกัน การได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐของเวียดนามทะยานกว่า 40% เทียบกับปีที่แล้ว มาอยู่ที่ 2.16 หมื่นล้านดอลลาร์ในช่วง 5 เดือนแรกจนถึงเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา

สื่อท้องถิ่นรายงานว่า รัฐบาลฮานอยจะเริ่มความพยายามระหว่างหน่วยงาน ในการออกกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันการเปลี่ยนถ่ายสินค้าอย่างผิดกฎหมาย โดยจะยึดตามมาตรฐานสากล

หลักเกณฑ์ใหม่อาจจะมีข้อกำหนดสำหรับผลิตภัณฑ์ที่จัดเป็นสินค้าผลิตภายในประเทศ เช่น สัดส่วนของวัตถุดิบในแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ได้มาจากเวียดนาม เช่นเดียวกับกระบวนการประกอบสินค้านั้น ๆ ต้องเกิดขึ้นในเวียดนามมากน้อยเพียงใด และคาดว่าจะกำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนในเร็ว ๆ นี้

รัฐบาลเวียดนามหวังว่า การปราบปรามนี้จะช่วยลดความไม่พอใจของวอชิงตันที่กำลังจับตามองเวียดนามมากขึ้น ท่ามกลางความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างกันที่เพิ่มขึ้น

เมื่อเดือน มิ.ย. ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐส่งสัญญาณว่า เวียดนามอาจถูกเก็บภาษีนำเข้า หากไม่จัดการปัญหาการลักลอบเปลี่ยนถ่ายสินค้าอย่างผิดกฎหมายพร้อมเรียกเวียดนามว่าแทบจะเป็น “ผู้ล่วงละเมิดที่เลวร้ายกว่าใคร” ในด้านการค้า

การปราบปรามของฮานอยยังมีเป้าหมายเพื่ออุดช่องโหว่หลักเกณฑ์สำหรับสินค้านำเข้าที่จำหน่ายภายในประเทศ ซึ่งสามารถนําเข้ามาแล้วส่งไปยังประเทศที่สามโดยเปลี่ยนชื่อถิ่นกำเนิดที่แท้จริงของสินค้าเหล่านี้

ช่องโหว่ดังกล่าวทำให้เวียดนามตกเป็นเป้าหมายที่น่าดึงดูดสำหรับการลักลอบเปลี่ยนถิ่นกำเนิดสินค้าและถูกตรวจสอบจากรัฐบาลวอชิงตัน ในขณะที่สงครามการค้ากับรัฐบาลปักกิ่งยังยืดเยื้อ

ปัจจุบัน การส่งออกไปยังประเทศที่เวียดนามมีข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) จะต้องมาพร้อมกับใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า เนื่องจากมีกฎเข้มงวดที่กำหนดว่าผลิตภัณฑ์ใดถือว่าผลิตในเวียดนาม อย่างไรก็ตาม สินค้านำเข้าสำหรับตลาดภายในประเทศกลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม

มาซาฮิโระ อิชิคาวะ รักษาการหัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการค้าและการลงทุนขององค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กล่าวว่า ชาติอุตสาหกรรมอย่างญี่ปุ่น สหรัฐ และประเทศในยุโรป ต่างมีมาตรฐานที่ชัดเจนสำหรับการจำแนกผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในท้องถิ่นจากสินค้านำเข้า แต่ตลาดเกิดใหม่อย่างเวียดนาม มีมาตรฐานที่คลุมเครือและมีหลายครั้งที่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เหมาะสม

“ในความเป็นจริง การติดป้ายถิ่นกำเนิดสินค้านั้นขึ้นอยู่กับจริยธรรมของแต่ละบริษัท” ผู้บริหารของบริษัทญี่ปุ่นรายหนึ่งที่มีโรงงานผลิตในเวียดนามเผย

เหวียน บิ๊ก เลิมหัวหน้าสำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม ยอมรับว่า ปัจจุบัน เวียดนามมีกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนในการรับมือกับกรณีอย่างโทรทัศน์ของอาซันโซ เขาเชื่อว่า บริษัทภายในประเทศและต่างชาติหลายรายก็ทำพฤติกรรมคล้ายกันอยู่เป็นประจำ โดยใช้กระบวนการง่าย ๆ ไม่กี่ขั้นตอนกับผลิตภัณฑ์จีนสำเร็จรูปก่อนจำหน่ายให้ผู้บริโภคเวียดนาม โดยโฆษณาว่าเป็นสินค้าผลิตในท้องถิ่น

การกระทำแบบนี้สนับสนุนให้เกิดปัญหาการลักลอบเปลี่ยนถ่ายสินค้าอย่างผิดกฎหมาย ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ทางการเวียดนามสกัดการขนส่งรองเท้าจากจีนในไฮฟอง เมืองท่าทางตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งสินค้าดังกล่าวอยู่ระหว่างเตรียมส่งกลับแดนมังกรหลังติดป้ายว่าผลิตในเวียดนาม

ในเดือนนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐประกาศเก็บภาษีนำเข้ามากถึง 456% กับผลิตภัณฑ์เหล็กบางประเภทที่มีถิ่นกำเนิดจากไต้หวันและเกาหลีใต้ซึ่งผ่านกระบวนการขั้นสุดท้ายในเวียดนาม แม้ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสินค้าจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าสหรัฐมีจุดยืนแข็งกร้าวขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนป้ายถิ่นกำเนิดสินค้า