CK Power แจงเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้เป็นสาเหตุของน้ำโขงแห้งในภาคอีสาน

CK Power แจงเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้เป็นสาเหตุของน้ำโขงแห้งในภาคอีสาน

บริษัท CK Power ผู้ร่วมทุนหลักของโรงไฟฟ้าพลังนำ้ไซยะบุรี ยันโครงการที่ก่อสร้างบนแม่นำ้โขงตอนล่างใน สปป.ลาวไม่มีที่เก็บกักน้ำ และการดำเนินการผลิตไฟฟ้ามีการปล่อยน้ำเข้าเท่ากับน้ำออก พร้อมชี้ ภาวะฝนน้อย น้ำในแม่น้ำตามธรมชาติ และส่วนที่ไหลลงมายังเขื่อนจากทางตอนบนน้อย ทำให้น้ำที่ไหลผ่านเขื่อนลงไปข้างล่างน้อยลงไปด้วย

CK Power ได้ออกเอกสารชี้แจงจำนวน 8 หน้าแจกให้กับคณะสื่อมวลชนที่ได้รับเชิญอย่างเร่งด่วนให้ไปเยี่ยมชมสถานะของโครงการในระหว่างวันที่ 22-23 กรกฏาคมนี้ หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าน่าจะมีส่วนทำให้เกิดภาวะน้ำโขงแล้งผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอีสาน ซึ่งอยู่ตำ่กว่าเขื่อนไซยะบุรีลงไป

CK Power ชี้แจงในเอกสารว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีได้ดำเนินการออกแบบโรงไฟฟ้าเพื่อให้เป็นไปตาม  Preliminary Design Guidance for Proposed Mainstream Dams in the Lower Mekong Basin (PDG 2009)  ของ  Mekong River Commission ในรูปแบบ  Run-of-River  หรือ “ฝายทดน้ำขนาดใหญ่” ซึ่งจะทำให้ไม่มีอ่างเก็บน้ำเหนือโรงไฟฟ้า และไม่มีการกักเก็บน้ำทางตอนบนของฝายขนาดใหญ่ที่ทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้า 

“เรียกว่า น้ำทุกหยดไหลมาเท่าไหร่ก็ผ่านไปเท่านั้นและเกิดเป็นไฟฟ้าสะอาดส่งจากไซยะบุรีไปยังประเทศไทยและใช้ภายในสปป.ลาว กระบวนการออกแบบเป็นไปตามข้อกำหนดของ  MRC Guideline  ทุกประการ” ทางบริษัทกล่าว

ทางบริษัทอธิบายต่อว่า จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าด้วยมวลน้ำที่ไหลเข้าสู่เครื่องกำเนิดไฟฟ้าในลักษณะกังหันแกนตั้ง  มวลน้ำที่เข้ามาปั่นเป็นไฟฟ้านั้นจะออกไปสู่ท้ายน้ำในปริมาณที่เข้ามาสู่โรงไฟฟ้า  รวมทั้งเหนือโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ปราศจากอ่างเก็บน้ำ  ดังนั้น เขื่อนไซยะบุรีจึงไม่มีการกักน้ำแต่อย่างใด 

“เหตุนี้เอง  โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีจึงมิได้เป็นสาเหตุแห่งความแห้งแล้งในลุ่มน้ำโขงทางภาคอีสานของไทยเราอย่างแน่นอน  

“ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีความแตกต่างตลอดลำน้ำโขง  บางช่วงเป็นช่องเขามีความแคบ  บางช่วงผ่านแก่งหิน และบางช่วงในประเทศไทยนั้นมีลักษณะเป็นที่ราบ  ปริมาณน้ำในลำน้ำโขงมีลำน้ำที่กว้างออกไป  ในช่วงฤดูแล้งจึงเห็นน้ำโขงในลักษณะลำน้ำที่แคบลงเมื่อปริมาณไหลของน้ำต่ำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ ที่ปริมาณน้ำฝนมาล่าช้าจึงทำให้เห็นลำน้ำที่แห้งลง” บริษัทระบุ

บริษัทยังได้อ้างอิงถึงข้อมูลปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตำ่กว่าค่าเฉลี่ยที่อาจส่งผลถึงพื้นที่รับนำ้เหนือเขื่อนในประเทศลาว ปริมาณน้ำไหลในลำน้ำที่มีระดับตำ่ลงตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ที่สอดคล้องกับที่การระบายน้ำที่ลดลงจากเขื่อนจีนประกอบเหตุผลว่าเขื่อนไซยะบุรีไม่ได้เป็นสาเหตุที่น้ำโขงลดตำ่ผิดปกติ

“เมื่อมวลน้ำที่เข้ามาน้อย  มวลน้ำที่ผ่านออกไปจากโรงไฟฟ้าก็มีปริมาณน้อย เท่ากับปริมาณที่เข้ามา ข้อมูลนี้จึงเป็น  scientific data  ที่ช่วยสนับสนุนว่า  โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี  ไม่ได้มีผลก่อให้เกิดความแห้งแล้งอย่างที่ถูกกล่าวอ้าง” บริษัทกล่าว

ในช่วงระหว่างนี้ ทางบริษัทกล่าวว่า จะทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทีละเครื่อง  โดยอาศัยหลักการเช่นเดียวกับการผลิตกระแสไฟฟ้า กล่าวคือ สามารถทำได้เท่าที่มีมวลน้ำเข้าสู่โรงไฟฟ้า  โดยหากมีน้ำไหลที่สามารถจะเดินเครื่องได้  3  เครื่องก็จะทำการทดสอบเพียงแค่  3 เครื่อง 

สำหรับการทดสอบการเดินเครื่องพร้อมกันทั้ง  7 เครื่องนั้น  เป็นแผนการทดสอบในช่วงฤดูน้ำหลาก 

มวลน้ำไหลที่เข้าในช่วงหน้าแล้งขณะนี้  ไม่เพียงพอที่จะทดสอบพร้อมกันทั้ง  7 เครื่อง  จึงจำเป็นต้องรอให้ถึงช่วงเวลาน้ำหลาก  ซึ่งคาดการณ์ไว้ประมาณในช่วงเดือนสิงหาคมหรือเป็นไปตามปริมาณมวลน้ำเข้าสู่โรงไฟฟ้า บริษัทกล่าว

“ขอจีนร่วมด้วยช่วยกัน พลิกวิกฤตในครั้งนี้ให้เป็นโอกาสสำคัญในการสื่อสารกับทางการจีน  ไม่ว่าจะเป็นการขอความร่วมมือในการแจ้งล่วงหน้าก่อนการกักเก็บน้ำเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำที่เป็นประโยชน์ต่อลุ่มน้ำโขงตอนใต้  หรือถ้าเป็นไปได้ในช่วงหน้าแล้ง  ควรงดกักน้ำ  เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนริมฝั่งโขง” บริษัทระบุในเอกสาร

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ทางบริษัทจะออกมาชี้แจงอย่างเร่งด่วนนี้ ทางสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ได้ระบุอย่างชัดเจนจากการวิเคราะห์ของทางสำนักว่า เขื่อนไซยะบุรีเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดระดับน้ำโขงที่ลดลงและผันผวนในเวลานี้

โดย สทนช. ระบุว่า ปัจจัยแรก พบว่า ปริมาณฝนตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติทั้งที่ประเทศจีน สปป.ลาว และฝั่งไทย  ส่วนเขื่อนจิ่งหงของจีนมีการปรับลดการระบายน้ำเพื่อซ่อมแซมระบบ ซึ่งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่ามีการลดการระบายลงประมาณครึ่งหนึ่ง คือ จากที่ 1,050 – 1,250 ลบ.ม ต่อวินาที เหลือเพียง 504 – 600

ส่วนปัจจัยสุดท้าย สทนช.ระบุว่าคือเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งสทนช.กล่าวว่าเขื่อนได้มีการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อน ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ โดยมีกำหนดการทำการทดสอบในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 29 ก.ค. ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว 

โดยระหว่างวันที่ 9 - 17 ก.ค. ทางเขื่อน “ได้ทำการกักเก็บน้ำบางส่วน” เพื่อดำเนินการทดสอบระบบ จึงทำให้ระดับน้ำโขงฝั่งไทยลดลง และหลังจากวันที่ 17 ก.ค. จึงทำการทดสอบเครื่องปั่นไฟ ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา มีระดับสูงขึ้น 40-50 ซม. สทนช.ระบุ

ข้อมูลบริษัทที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของบริษัท ระบุว่า บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งโดยกลุ่มบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (“กลุ่ม ช.การช่าง”) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2554 ด้วยวัตถุประสงค์ให้เป็นบริษัทแกนนำของกลุ่ม ช.การช่าง ที่มุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ 

บริษัทได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556

ปัจจุบัน บริษัทลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในโครงการไฟฟ้า 3 ประเภท ได้แก่ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการไฟฟ้าระบบโคเจนเนอเรชั่น และโครงการไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ โดยแบ่งเป็นการลงทุนในโครงการไฟฟ้าที่เป็นบริษัทย่อยและบริษัทร่วม รวม 6 บริษัท รวมทั้งบริษัทร่วมไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (“XPCL”) ในสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 37.5

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี (“โครงการไซยะบุรี”) ภายใต้การดำเนินงานของ XPCL เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าที่ผลิตได้ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยและรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงปลายปี 2562

ภาพ เขื่อนไซยะบุรีระหว่างการเยี่ยมชมของคณะสื่อมวลชน/ เครดิต: Pratch Rujivanarom