จับแล้ว 'ยาสอดสมุนไพร bunlafa_shop2' ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต

จับแล้ว 'ยาสอดสมุนไพร bunlafa_shop2' ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต

จับแล้ว “ยาสอดสมุนไพร bunlafa_shop2” ขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต และ โฆษณาเกินจริง

เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับเรื่องร้องเรียน พบการจำหน่ายสินค้าที่มีการโฆษณาเกินจริงผ่านสื่อ Instagram ชื่อ ยาสอดสมุนไพร bunlafa_shop2 โดยมีการนำเสนอข้อความในทำนองยาสอดสมุนไพรแก้ตกขาวคัน มีกลิ่น มีเชื้อรา...ช่องคลอดกระชับ ฟิต ซึ่งข้อความที่ใช้เข้าข่ายโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 อย.ได้ประสานไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ให้ดำเนินการหาแหล่งจำหน่าย จากการสืบค้นพบของกลางเป็นยาสอดสมุนไพร bunlafa_shop2 ยังพบเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ฝ่าฝืนกฎหมายหลายรายการ จึงได้ทำการตรวจยึดของกลางและดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้จำหน่ายและผู้ผลิตต่อไป

ทั้งนี้ ขอย้ำเตือนผู้บริโภคอย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายในการสั่งซื้อของผ่านสื่อออนไลน์ เพราะในกรณีของการขายยา อย.ไม่ได้อนุญาตให้มีการขายยาผ่านทางสื่อออนไลน์ เพราะการซื้อยาออนไลน์มีอันตรายอย่างยิ่ง เพราะผู้ใช้ยาไม่สามารถทราบได้เลยว่าเป็นยาจริงหรือไม่ ได้มาตรฐานหรือมีความปลอดภัยหรือไม่ และการใช้ยาต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะจะได้วินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง หรือซื้อผ่านทางร้านขายยาคุณภาพที่มีเภสัชกรประจำร้านและมีใบอนุญาตเท่านั้น ส่วนกรณีของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณลดอ้วน เสริมสมรรถภาพทางเพศ ที่ผ่านมามักตรวจพบสารอันตราย หรือมีการผสมยาแผนปัจจุบัน เช่น ไซบูทรามีน ออริสแตท บิซาโคดิล และเฟนฟลูรามีน ยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงที่อันตรายอาจถึงแก่ชีวิตดังที่ปรากฎเป็นข่าว ฉะนั้นการซื้อผลิตภัณฑ์ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาบริโภคผ่านสื่อออนไลน์ จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังและไตร่ตรองให้รอบคอบ อย่าหลงเชื่อโฆษณาเพียงอย่างเดียว

รองเลขาธิการ ฯ อย. กล่าวในตอนท้ายว่า ขอเตือนไปยังพรีเซ็นเตอร์ ทั้งดารา นักร้อง พริตตี้ พิธีกร และ เน็ตไอดอล ที่รับรีวิวสินค้าโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ทั้งผลิตภัณฑ์ ยา เสริมอาหาร และ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หากจะรับรีวิวผลิตภัณฑ์ใด ๆ ต้องตรวจดูให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะคำโฆษณาที่จะพูดสื่อออกไปสู่ถึงผู้บริโภคต้องไม่เกินจริง ไม่ผิดศีลธรรม และไม่กล่าวอ้างไปในทางบำบัดบรรเทารักษาโรค ซึ่งกฎหมายระบุชัดว่า พรีเซ็นเตอร์ต้องรับผิดชอบในเนื้อหาและคำพูด หากพูดสรรพคุณเกินจริงทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อหรือคล้อยตามคำโฆษณาที่พูดไป จะถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะหากถูกดำเนินคดีอาจทำให้เสียชื่อเสียงอีกด้วย และถ้าการกระทำความผิดพบเป็นครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะมาจากผลิตภัณฑ์เดิม หรือ ผลิตภัณฑ์ใหม่จะต้องเสียค่าปรับในอัตราโทษเป็นสองเท่าจากที่ถูกปรับครั้งแรก ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเปรียบเทียบปรับเพียงอย่างเดียวแต่อัตราโทษสูง แต่โทษของการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมีทั้งโทษจำและปรับ หากไม่มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์หรือเนื้อหาที่จะโฆษณาได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ อย. มีระบบให้ตรวจสอบผ่านช่องทาง สายด่วน อย.1556 หรือ E-mail: [email protected] หรือผ่านทาง www.fda.moph.go.th หรือเดินทางมาสอบถามด้วยตนเอง ที่ อย. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือของผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังที่เห็นได้จากคดีเมจิกสกินที่มีดาราหลายรายถูกดำเนินคดีและต้องเสียค่าปรับที่ อย. ซึ่งดาราหลายคน ต่างฝากเตือนเพื่อนร่วมอาชีพให้ระวังในการรีวิวผลิตภัณฑ์สุขภาพด้วย