เร่งอัดงบส่งเสริมการศึกษา 'สูงวัย'

เร่งอัดงบส่งเสริมการศึกษา 'สูงวัย'

สกศ.ชี้โจทย์ใหม่ใส่ใจ "สูงวัย" เร่งอัดงบการศึกษาน้ำนอกท่อสูงกว่าน้ำในท่อ เคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษารองรับวัยเรียนรู้ 40 ล้านคน

พร้อมฝากรัฐบาลปรับแนวคิดค่านิยมใหม่ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ช่วยกันขับเคลื่อนและแปลงสู่การปฏิบัติโดยส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีประสิทธิภาพ

วันนี้ (23 ก.ค. 62) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพ ฯนายสุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นประธานการประชุมทางวิชาการ "ยุทธศาสตร์ชาติสู่แผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา" พร้อมด้วย นาย.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) นายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และผู้แทนองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รวมถึงสื่อมวลชน จำนวน 250 คน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้


นายกฤษณพงศ์ กล่าวว่า การพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เป็นวาระที่มีขอบข่ายกว้างขวาง ครอบคลุมทั้งการศึกษาและพัฒนาที่มากกว่าการส่งเสริมการเรียนรู้ใน 8 กลุ่มสาระวิชาตามปกติเท่านั้น ประการสำคัญเสาหลักของยุทธศาสตร์ขาติ 20 ปี คือ ทรัพยากรมนุษย์หรือคนที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยทักษะและสมรรถนะที่สำคัญ เช่น ค่านิยม ภาษา การเรียนรู้ ฯลฯ ทั้งนี้ การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต โครงสร้างประชาการประเทศไทยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมาพบว่า เด็กเกิดน้อยลง จากเด็กเกิดใหม่ปีละกว่า 1 ล้านคน ในขณะที่ปีล่าสุดเด็กเกิดใหม่มีเพียง 7.4 แสนคน เด็กน้อยลงแต่คนสูงอายุจะมากขึ้น ในอีก 10 ปี คนสูงอายุจะเป็น 1 ใน 4 ของประชากรประเทศ คนสูงอายุยุคต่อไปจะต้องทำงาน คนวัยแรงงานก็ยังไม่ตอบโจทย์ ต้องปรับการเรียนใหม่ คนวัยทำงานมีจำนวน 35 - 40 ล้านคน


นอกจากนั้น การปรับระบบการจัดการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับจำนวนคนมากกว่า 40 ล้านคน ไม่ใช่รูปแบบเดิมที่มุ่งเน้นดูแลการศึกษาแค่กลุ่มเด็กและเยาวชน เพราะการลงทุนจัดการศึกษาเด็กวัยเรียนมีความเสี่ยงสูง ปริมาณเด็กวัยเรียนลดลง สวนทางกับวัยทำงานและผู้สูงวัยที่มีมากขึ้น โจทย์การศึกษาต่อไปจึงต้องเปลี่ยนมโนทัศน์ใหม่ อาจจำเป็นต้องปรับให้โรงเรียนที่มีอาจมีผู้เรียนน้อยลงเปลี่ยนเป็นสถานเรียนรู้ของผูสูงวัย ต่อไปประเทศไทยกลายเป็นสังคมสูงวัยที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ของครอบครัว มีความเอื้ออาทร และความเผื่อแผ่ต่อกันนำมาใช้ซึมซับในระบบการศึกษามากขึ้น


“ในอีก 20 ปี ประเทศไทยต้องเร่งการพัฒนาเพื่อก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เร่งหนีความจนให้ทัน เพราะมีแต่คนแก่ องค์ความรู้การศึกษาต้องหันมาตื่นตัวการส่งเสริมการเรียนรู้แก่ผู้สูงวัย รวมทั้งฝึกเด็กรุ่นใหม่ให้มีความเข้าใจสังคมสูงวัย และสามารถร่วมงานกันได้ โจทย์ใหม่คือการให้การศึกษากับคนทุกระดับทั้งประเทศ ต้องทบทวนการลงทุนด้านการศึกษากับน้ำนอกท่อ คือกลุ่มคนที่หารายได้ให้ประเทศ เป็นคนวัยทำงานและผู้สูงอายุที่มีมากถึง 40 ล้านคน ขณะที่น้ำในท่อคือกลุ่มเด็กในระบบการศึกษาที่น้อยลง และยังต้องมุ่งวางกรอบการพัฒนาคนตั้งแต่แรกเกิด และพัฒนาให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีความพร้อมทั้งสติปัญญา คุณธรรม และจริยธรรม”นายกฤษณพงศ์ กล่าว


นพ.จรัส กล่าวว่า การดำเนินงานของ กอปศ. ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้จัดทำข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งจากการลงพื้นที่ พบปัญหาหลากหลาย สลับซับซ้อน และมีความเชื่อมโยงกันในหลายมิติ ซึ่งเมื่อสังเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทยพบว่ามี 4 ปัญหาใหญ่ คือ 1.คุณภาพการศึกษาไทยต่ำกว่าสากล 2.ความไม่เสมอภาคทางการศึกษา เด็กทุกคนไม่ได้มีที่เรียน โดยเฉพาะเด็กยากจนหลายคนต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา 3.ความสามารถในการแข่งขันนานาชาติ และ 4.ความด้อยประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลในการบริหารงาน เช่น การใช้งบประมาณในการจัดการศึกษา เพราะไทยมีงบประมาณด้านการศึกษาจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ใช้ไปกับเรื่องอื่น ๆ ไม่ได้ใช้เพื่อพัฒนาเด็ก โดย กอปศ. ได้จัดทำข้อเสนอรายงานต่อนายกรัฐมนตรี โดยเสนอแนะทางออกของการศึกษาด้วยการปฏิรูปการศึกษา 7 ประเด็นไปแล้ว


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากอปศ.ได้ดำเนินการผลักดันกฎหมาย และจัดทำข้อเสนอรายงานต่อรัฐบาลเสร็จสิ้นไปแล้ว 3 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. 2562 รวมถึงแผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีแล้ว ขณะเดียวกันร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งเป็นเสมือนธรรมนูญทางการศึกษา ที่เป็นกลไกปรับแนวคิดค่านิยมใหม่ที่มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษายังอยู่ระหว่างรัฐบาลพิจารณา ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องช่วยกันขับเคลื่อนและแปลงสู่การปฏิบัติโดยส่วนราชการ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีประสิทธิภาพ


นายสุภัทร กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงประเทศไทย แตกต่างหลากหลายและมีตัวแปรของการศึกษาเป็นเวทีใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งด้านสังคม เทคโนโลยี และอุตสาหกรรม โดยมีภาคประชาชนและภาคเอกชนเป็นผู้ร่วมขับเคลื่อนสำคัญ ดังนั้น ภายใต้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) และแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงกลางของกระบวนการขับเคลื่อน และอยู่ระหว่างรอเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐบาลใหม่ จึงต้องอาศัยกลไกที่มีความหลากหลาย โดยใช้ทั้งอำนาจจากกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล โดยแนวคิดและข้อเสนอที่ได้จากการประชุมครั้งนี้จะถูกนำไปปรับปรุงพัฒนาการทำงานของ สกศ. ในะระยะเร่งด่วน 1-3 ปีต่อไป