รัฐบาลลุย 'อีอีซี' เต็มสูบ ชูฮับเศรษฐกิจเอเชีย

รัฐบาลลุย 'อีอีซี' เต็มสูบ ชูฮับเศรษฐกิจเอเชีย

รัฐบาลควรเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี ทั้ง 5 โครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีกำหนดแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภาในวันที่ 25 ก.ค.2562 ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลชุดนี้ คือ การมุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในศตวรรษที่ 21 ผ่านนโยบายหลัก 12 ด้าน และนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน โดยมีหลายนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

สำหรับนโยบายเร่งด่วน 12 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอีอีซี คือ นโยบายข้อ 6 การวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของประเทศสู่อนาคต โดยต่อยอดอุตสาหกรรมเป้าหมายและวางรากฐานการพัฒนาภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชนในอีอีซี เมืองอัจฉริยะ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย และการวางรากฐานการพัฒนาเทคโนโลยีสื่อสารไร้สายในระบบ 5จี ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะเอสเอ็มอีและชุมชน

รัฐบาลลุย \'อีอีซี\' เต็มสูบ ชูฮับเศรษฐกิจเอเชีย

และการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีสื่อสารสมัยใหม่ในการให้บริการสาธารณสุขและการศึกษาทางไกล การสร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะทั้งเอสเอ็มอี เกษตรกรและผู้ประกอบการยุคใหม่ พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนประเทศด้วยปัญญาประดิษฐ์ในอนาคต

ในขณะที่นโยบายหลัก 12 ด้าน ที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี คือ นโยบายข้อ 5 การพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย โดยครอบคลุมพัฒนาภาคอุตสาหกรรมภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพเศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Bio-Circular-Green Economy โดยนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาต่อยอด และสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ และวัฒนธรรมในการผลิตสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมและบริการของท้องถิ่น

รวมทั้งนโยบายยกระดับโครงข่ายระบบไฟฟ้าและพลังงานให้มีความทันสมัย ทั่วถึง เพียงพอ มั่นคง และมีเสถียรภาพ โดยจัดทำแผนการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะทั้งระบบให้สามารถรองรับเทคโนโลยีด้านพลังงานสมัยใหม่ในอนาคต มุ่งเน้นการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศให้เชื่อมต่อระเบียงเศรษฐกิจ 4 ภาค คือ ภาคตะวันตก ตะวันออก เหนือและใต้ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการระบบไฟฟ้าและพลังงานระหว่างพื้นที่ต่างๆ ได้มั่นคงและมีประสิทธิภาพโดยเฉพาะในภาคการผลิต

ในขณะที่นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น เศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเศรษฐกิจวัฒนธรรม

นโยบายการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจและการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากศักยภาพและโอกาสของพื้นที่จะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคและสร้างโอกาสการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำของการพัฒนา ลดการกระจุกตัวของการพัฒนาและประชากรของเมืองใหญ่ โดยสร้างสังคมชนบทเป็นสังคมเมืองที่สงบสุข เพียงพอ และแก้ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน นโยบายนี้มีเป้าหมายส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษเพื่อเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของเอเชีย จะดำเนินการ 4 แนวทาง คือ

1.พัฒนาอีอีซีอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัยให้เป็นไปตามเป้าหมาย พัฒนาพื้นที่โดยรอบให้เป็นเมืองมหานครการบิน ศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย และเมืองอัจฉริยะที่มีความน่าอยู่และทันสมัยระดับนานาชาติ ยกระดับภาคการเกษตรให้เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม คมนาคม ดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเร่งพัฒนาบุคลากร รวมทั้งทบทวนกฎระเบียบ เพื่อรองรับและส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม

2.ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้และการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าทางทะเลของประเทศและของภาคใต้ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังเอเชียใต้ พัฒนาการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่ฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย และพัฒนาอุตสาหกรรมฐานชีวภาพและการแปรรูปการเกษตรจากทรัพยากรในพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้าน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม และการพัฒนาเมืองน่าอยู่

3.เพิ่มพื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจแห่งใหม่ในภูมิภาค เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจหลักเชิงพื้นที่ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่เศรษฐกิจฐานชีวภาพและพื้นที่ที่มีความได้เปรียบเชิงที่ตั้งที่สามารถพัฒนาเป็นฐานอุตสาหกรรมในอนาคต โดยพัฒนาให้สอดคล้องกับศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องในการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่

นอกจากนี้จะส่งเสริมและเร่งรัดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ทั่วประเทศรวมถึงเมืองอัจฉริยะในอีอีซี โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จ.เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น เมืองในเขตอีอีซี สงขลา และภูเก็ต ภายใต้แนวคิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะและเมืองน่าอยู่ที่มีระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และพื้นที่สีเขียวที่เพียงพอ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องการให้รัฐบาลผลักดันนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาให้เป็นผลตามที่วางไว้ โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมาย และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอีอีซี ซึ่งรัฐบาลควรเร่งผลักดันการลงทุนของภาคเอกชนในอีอีซี

รวมทั้งควรจะเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ในเขตอีอีซีทั้ง 5 โครงการให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว เพราะจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับทั้งนักลงทุนไทยและต่างชาติในการเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในไทย ยกระดับฐานการผลิตของไทยในระยะยาว