ชงตั้งกก.ร่วมแก้ปัญหาขัดแย้งที่ดินป่าไม้ มรดกรัฐบาลเก่าและคสช.

ชงตั้งกก.ร่วมแก้ปัญหาขัดแย้งที่ดินป่าไม้ มรดกรัฐบาลเก่าและคสช.

รมว.ทส. เตรียมดึงผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา ร่วมแก้ปัญหาร่วมกับภาคประชาชน

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกล่าวภายหลังจากการเข้าพบของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ในวันนี้ว่า มีแนวทางที่จะตั้งคณะกรรมการร่วมที่มาจากหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนของขปส.หรือ พีมูฟ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความขัดแย้งด้านที่ดินและป่าไม้ที่มีการรวบรวมนำเสนอโดยพีมูฟ ถึง 73 กรณี รวมถึงการดำเนินคดีจับกุมคนยากไร้ที่ถูกกล่าวหาว่าบุกรุกป่าในอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิเวลานี้ อันเนื่องมาจากนโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

โดยนายวราวุธกล่าวว่า นโยบายต่างๆที่ผ่านมา มีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ที่สำคัญคือ จะทำอย่างไรที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น 

เรื่องป่ารุกคน คนรุกป่า เขาเข้าใจความรู้สึกและเข้าใจทั้งสองฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ จากนี้จะมาแก้ปัญหาร่วมกันโดยแก้ในเรื่องที่แก้ได้ก่อนไปจนครบทุกกรณี ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และคงจะใช้นโยบายเดียวหรือแนวทางเดียวสำหรับทุกกรณีไม่ได้ นายวราวุธกล่าว

“เราจะไม่แก้ปัญหาแบบตัดเสื้อโหล” นายวราวุธกล่าวในที่ประชุม

ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินและป่าไม้มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน และเป็นปัญหาที่เรื้อรังและรุนแรงในหลายกรณี จนกระทั่งมีการจับกุมดำเนินคดีกันในหลายๆพื้นที่

ประเด็นดังกล่าว มักถูกยกให้เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมาหลายชุด โดยรัฐบาลพยายามที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ที่มีการประมาณกันว่ามีคนอยู่กับป่าและมีความขัดแย้งนับล้านครอบครัวรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์

ในปี พ.ศ. 2541 รัฐบาลได้ออกมติคณะรัฐมนตรีผ่อนปรนการอยู่อาศัยในป่าเพื่อเปิดทางให้มีการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดิน แต่กฎหมายป่าไม้ที่มีอยู่ไม่เปิดช่องให้มีการดำเนินการจนจบกระบวนการได้ ทำให้ยังมีผู้ตกค้างการตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์และดำเนินการตามมติครม.อยู่จำนวนมาก

ล่าสุด ได้มีการแก้ไขกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ กฎหมายอุทยานฯ และกฎหมายสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่จะเอื้อให้มีการจัดการให้คนที่อยู่ในป่าได้อาศัยอย่างถูกกฎหมายตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งจะมีผลปลายปีนี้หลังการประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 180 วัน

อย่งไรก็ตาม พีมูฟเห็นว่า กฎหมายยังมีเงื่อนไขข้อจำกัดและในหลายกรณีไม่สอดคล้องวิถีของชุมชน จึงเสนอให้มีการทบทวนปรับปรุงเนื้อหา พ.ร.บ.ป่าชุมชน, พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ, และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าฯ ฉบับ พ.ศ. 2562 ให้สอคคล้องกับเนื้อหาและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2560 และในขณะเดียวกัน ให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง พื้นที่เป้าหมายและกรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) ที่เป็นพื้นฐานแนวคิดการจัดการปัญหาของกฎหมายใหม่ทั้งสามฉบับ 

โดยนายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งที่มีต่อเนื่องมากว่า 30 ปีมีประเด็นหลักอยู่ที่ว่า ชุมชนจะจัดการป่าใดได้บ้าง ซึ่งเขามองว่าเงื่อนไขที่วางไว้ตามกฎหมายใหม่ในเวลานี้ ไม่สอดคล้องกับข้อเทผ้จจริงกับศักยภาพของชุมชน

พีมูฟได้เสนอให้มีผลักดันแนวคิดการรับรองสิทธิชุมชนผ่านร่างกฎหมายสิทธิชุมชนและการออกโฉนดชุมชน และสร้างนโยบายพื้นที่ต้นแบบแก้ไขปัญหา รวมทั้งการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงตามติ ครม.ปี พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะ

นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้ยุตินโยบายทวงคืนผืนป่าและหามาตรการคุ้มครองเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการดำเนินคดีที่อาจเกิดจากการดำเนินการไม่ครบถ้วนของรัฐ อาทิ การขาดกระบวนการกลั่นกรองผู้ยากไร้ ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66 ที่ให้ยกเว้นผู้ยากไร้ในป่าในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2557 เป็นต้น ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นกับชาวบ้านสิบกว่ารายที่อุทยานแห่งชาติไทรทอง

และในวันเดียวกันนี้ ได้มีกลุ่มเครือข่ายองค์กรเพื่อสิทธิสัตว์แห่งประเทศไทย เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อ รมว.ทส. ขอให้หยุดการส่งออกช้างไทยหรือธุรกิจส่งออกช้างไทยทุกประเภท และเร่งดำเนินมาตรการปกป้องคุ้มครองช้างไทยจากความรุนแรงและการทารุณกรรม และเร่งแก้ไขปัญหาสวัสดิการภาพช้างไทยอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้เนื่องมาจากกรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้ออกระเบียบกระทรวง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ในการอนุญาตให้ส่งช้างออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2562 เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ทางองค์กรกลุ่มคนรักสัตว์ต่างแสดงความวิตกกังวล

โดยนายวราวุธกล่าวว่า ตนไม่เคยเห็นด้วยที่จะให้ช้างไทยไปเมืองนอก และจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมร่วมเพื่อพิจารณาให้ชะลอการใช้กฎระเบียบดังกล่าวในโอกาสต่อไป

ภาพ/ เครดิต: พีมูฟ