เขื่อนอุบลรัตน์ใช้น้ำก้นอ่างแล้ว15ล้านลบ.ม. ยันไม่กระทบอุปโภคบริโภค

เขื่อนอุบลรัตน์ใช้น้ำก้นอ่างแล้ว15ล้านลบ.ม. ยันไม่กระทบอุปโภคบริโภค

เขื่อนอุบลรัตน์ใช้น้ำก้นอ่างแล้ว15ล้านลบ.ม. ผอ.ยืนยันบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก ยังไม่รุนแรงเท่าปี 2536 แต่ต้องบริหารน้ำอย่างระมัดระวังป้องกันปัญหาไม่มีน้ำมาเติม ระบายวันละ5แสนลบ.ม. และไม่สามารถเพื่อการเกษตรได้

นายพิพัทต์ คงสินทวีสุข ผอ.โรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ขณะนี้อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ 23% คิดเป็น 566 ล้าน ลบ.ม. มีการระบายน้ำวันละ 5 แสน ลบ.ม. เพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภค ผลิตน้ำประปา และ รักษาระบบนิเวศน์ในลำน้ำพอง แต่ไม่สามารถใช้เพื่อการเกษตร

แม้ว่าในช่วงต้นฤดูฝนจะมีฝนตกค่อนข้างมาก แต่ถึงปัจจุบันพบว่า มีปัญหาฝนทิ้งช่วง ประกอบกับเรามีน้ำต้นทุนจากปีที่ผ่านมาค่อนข้างน้อย ทำให้ทางเขื่อนไม่สามารถจ่ายน้ำได้มากเท่าที่ควร และต้องใช้น้ำก้นอ่าง ซึ่งถึงปัจจุบันเราต้องใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 15 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งปริมาณน้ำก้อนนี้จะใช้เพื่อแก้ปัญหากรณีที่ฝนแล้ง ไม่มีน้ำมาเติมในอ่าง แต่หากใช้ไปจนหมด ในปีหน้าหากเกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงขึ้นมา เราจะขาดปริมาณน้ำสำรองที่จะใช้ได้

เมื่อพูดถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ถือว่า ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แต่เขื่อนอุบลรัตน์เคยพบสถานการณ์น้ำน้อยที่สุด ตั้งแต่สร้างเขื่อนมา อายุ53ปี ในปี 2536 ในปีนั้นมีน้ำในอ่างเพียง 13% ถือว่าน้อยที่สุด รองลงไปคือปี 2537 มีน้ำเพียง 14% มีน้ำในเขื่อนประมาณ 300 กว่าล้าน ลบ.ม. ในปี 2536 เราต้องใช้น้ำก้นอ่างไปถึง 166 ล้าน ลบ.ม. แต่ปัจจุบันใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 15 ล้าน ลบ.ม. สถานการณ์วันนี้ใกล้เคียงกับปี2559ซึ่งปีนั้นใช้น้ำก้นอ่างไปทั้งหมด88ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้ต้องติดตามสถานการณ์ที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า เดือน ส.ค.จะมีฝนตกมากขึ้น ซึ่งโดยปกติในภาคอีสานจะมีฝนตกชุกในเดือน ส.ค.ถึงเดือน ต.ค. ก็คาดว่า จะมีฝนตกและมีน้ำมาเติมในเขื่อนมากขึ้น

นายพิพัทต์ กล่าวอีกว่าขณะนี้ทางเขื่อนได้ติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิดและได้มีการทำงานประสานกับทุกภาคส่วนและคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จ.ขอนแก่น ในการบริหารน้ำที่มีอยู่ไม่มากให้เกิดประโยชน์สูงสุด แต่ยังไงก็ขอฝากประชาชนทุกท่านขอให้เชื่อมั่นว่า ทางเขื่อนสามารถจ่ายน้ำเพื่อการผลิตน้ำประปาได้อย่างเพียงพอ ไม่มีปัญหาขาดน้ำอย่างแน่นอน

สำหรับสถานการณ์ของเขื่อนต่างๆ ในความรับผิดชอบของ กฟผ.ในภาคอีสาน พบว่า ทุกเขื่อนอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แต่ที่น้อยที่สุดคือที่เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งมีปริมาณน้ำใช้การได้ติดลบ เขื่อนจุฬาภรณ์ก็ยังมีน้ำเพียงพอสามารถระบายได้วันละ 2 ล้าน ลบ.ม.เพื่อช่วยพื้นที่การเกษตร เขื่อนน้ำพุง จ.สกลนคร แม้จะมีปริมาณน้ำน้อยแต่ไม่ได้ต้องจ่ายน้ำเพื่อการเกษตร หรือเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีปริมาณน้ำใกล้เคียงกับเขื่อนอุบลรัตน์แต่ความต้องการน้ำเพื่อใช้สำหรับพื้นที่เกษตรไม่มาก”นายพิพัทต์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ที่เขื่อนอุบลรัตน์ยังมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวอย่างต่อเนื่อง วันนี้อากาศค่อนข้างครึ้ม ทำให้นักท่องเที่ยวบอกว่าอากาศดี ที่สำคัญเขื่อนอุบลรัตน์มีน้ำค่อนข้างมากเมื่อมองด้วยสาย แตกต่างจากหลายแห่ง เช่นนักท่องเที่ยวจากสุรินทร์ บอกว่าอ่างน้ำแห้งขอดหมดแล้ว

สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันนี้ (22ก.ค.62) เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณ 566.54 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 23.30 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง โดยปัจจุบันใช้น้ำก้นอ่างไปแล้ว 15.13 ล้าน ลบ.ม. หรือติดลบแล้ว0.82เปอร์เซ็นต์ เขื่อนน้ำพุง ปริมาณน้ำ 31.60 ล้าน ลบ.ม. หรือ 19.10 เปอร์เซ็นต์ความจุอ่าง น้ำใช้งานได้ 22.92 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนสิริธร มีปริมาณ 875.52 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44.52 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง ปริมาณน้ำใช้งานได้ 44.14 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3.89 เปอร์เซ็นต์

เขื่อนจุฬาภรณ์ ปริมาณน้ำ 43.16 ล้าน ลบ.ม. หรือ 26.36 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง น้ำใช้งานได้ 5.95 ล้าน ลบ.ม. หรือ 4.70 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง ห้วยกุ่ม มีปริมาณ 6.60 ล้าน ลบ.ม. หรือ 32.60 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง น้ำใช้งานได้ 5.08 ล้าน ลบ.ม. หรือ 27.16 เปอร์เซ็นต์ อ่างบนลำตะคอง ปริมาณ 9.39 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94.83 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่าง น้ำใช้งานได้ 9.09 ล้าน ลบ.ม. หรือ 94.67 เปอร์เซ็น์ ส่วน อ่างล่างลำตะคอง มีปริมาณ 144.81 ล้าน ลบ.ม. หรือ 46.04 ของความจุอ่าง น้ำใช้งานได้ 112.15 ล้าน ลบ.ม. หรือ 39.79 เปอร์เซ็นต์