“ยูเซ็น โลจิสติกส์”ทรานส์ฟอร์ม รับตลาดอีคอมเมิร์ซโตพุ่ง

“ยูเซ็น โลจิสติกส์”ทรานส์ฟอร์ม รับตลาดอีคอมเมิร์ซโตพุ่ง

ปัจจุบันพฤติกรรมผู้บริโภค เปลี่ยนแปลงไปมาก การซื้อสินค้าและบริการผ่านช่องทางใหม่ๆ โดยเพาะ “อีคอมเมิร์ซ” มีบทบาทมากขึ้น ทำให้ธุรกิจโลจิสติกส์อยู่เฉยไม่ได้ ต้องลุกขึ้นมา “ปรับตัว” ให้ทันกับความต้องการที่พลิกโฉมไป

“ยูเซ็น โลจิสติกส์” ดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์มา“ร้อยปี”ปัจจุบันขยายอาณาจักรไปกว่า 45 ประเทศทั่วโลก โดยวางเป้าหมายในการ “ทรานส์ฟอร์ม” องค์กรเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจโลจิสติกส์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทะยานสู่รายได้ 8.8 แสนล้านเยนในปี 2568  จากปี 2562 จะมีรายได้ทั่วโลกที่ 5.7 แสนล้านเยน

เมื่อระดับโลกมุ่งทรานส์ฟอร์มองค์กร ธุรกิจในประเทศไทยก็ขานรับนโยบายดังกล่าว โดย ซูซูมุ ทานากะ ประธานและเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูเซ็น โลจิสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เล่าว่า เมื่อประเทศไทยมีนโยบายขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ซึ่งจะเปลี่ยนภาพของอุตสาหกรรมในอดีตไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ ทำให้บริษัทต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้น

ทั้งนี้ การทรานส์ฟอร์ม ก็คือการ “เปลี่ยนแปลง” ซึ่งวิสัยทัศน์ปี 2568 บริษัทต้องการทรานส์ฟอร์มองค์กรตั้งแต่การบริหารจัดการภายในองค์กร ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ กระบวนการทำงาน เช่น การมีบริการส่งสินค้าทางอากาศ ทางเรือ การขนส่งทางบกฯ จะรวบให้การทำงานกระชับขึ้น ลดการใช้กระดาษ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน เป็นต้น ส่วนภายนอก จะให้ความสำคัญกับการยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง(Customer centric) โฟกัสความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป มองแนวโน้มธุรกิจโลจิสติกส์ในพื้นที่ใหม่ๆ ซึ่งมีโอกาสเติบโต เช่น การบริการลูกค้าเจ้าของแบรนด์โดยตรงแบบ B2C จากที่ผ่านมาเน้น B2B เป็นหลัก

ปัจจุบันโครงสร้างธุรกิจยูเซ็น เน้นบริการขนส่งทางเรือ 40% ขนส่งทางบก 30% และขนส่งทางอากาศ คลังสินค้า 30% ในส่วนนี้คลังสินค้ายังมีสัดส่วนน้อยมาก แต่อนาคตบริษัทต้องการผลักดันให้เติบโตต่อเนื่อง ขณะที่ลูกค้าส่วนใหญ่ 40-45% ยังอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ 25% อิเล็กทรอนิกส์ 20-25% เคมิคัลส์ และเริ่มบุกตลาดอีคอมเมิร์ซซึ่งมีสัดส่วนน้อยมาก อีกทั้งลูกค้าหลักยังเป็น “ญี่ปุ่น” สัดส่วนถึง 90% จึงต้องการขยายสู่กลุ่มใหม่ทั้งลูกค้าสหรัฐ ยุโรป รวมทั้งไทยด้วย และกระจายความเสี่ยงให้ลูกค้าญี่ปุ่นเหลือสัดส่วน 60-70%

ล่าสุดบริษัทใช้งบลงทุนกว่า 600 ล้านบาท เพื่อสร้างคลังสินค้าแห่งใหม่ 2 หลัง บนพื้นที่กว่า 28 ไร่ ย่านบางบ่อ โดยคลังแรกมีพื้นที่ 1.4 หมื่นตารางเมตร(ตร.ม.) เปิดให้บริการปีก่อน และคลังที่ 2 พื้นที่ 9,700 ตร.ม. เปิดให้บริการ เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะรองรับความต้องการลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่ขายสินค้าอีคอมเมิร์ซ ทั้งหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อสุขภาพ สินค้าแฟชั่น เช่น รองเท้ากีฬา น้ำหอม เครื่องสำอางฯ ซึ่งมีการเติบโตมาก และผู้บริโภคยังคงจับจ่ายใช้สอย

“เมื่อสภาพวดล้อมทางธุรกิจเปลี่ยน ทั้งประเทศไทยมุ่งสู่ไทยแลนด์ 4.0 พัฒนาอีอีซีรับอุตสาหกรรมใหม่ เราจึงพยายามเปลี่ยนตัวเองเช่นกัน เราอยู่รอดในธุรกิจโลจิสติกส์มากว่า 40 ปี เราก็ต้องการจะอยู่รอดไปอีก 50 ปี มุ่งสู่ 100 ปี”

ทั้งนี้ ในแง่รายได้ปี 2025 บริษัทขอยึดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นมาตรฐาน(Benchmark) เช่น ปีนี้จีดีพีอาจโต 3-4% แต่บริษัทขอโต 5% ต่อเนื่องทุกปี ส่วนตลาดรวมโลจิสติกส์มูลค่าหลัก “แสนล้านบาท” ที่ผ่านมาเติบโต 3-4% บริษัทก็สามารถโตมากกว่าตลาดด้วย ส่วนปี 2561 บริษัทมีรายได้เติบโต 5% อย่างไรก็ตาม รายงานจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ยูเซ็น มีรายได้รวมกว่า 8,100 ล้านบาท และกำไรสุทธิกว่า 434 ล้านบาท ซึ่งเป็น 1 ใน 2 รายใหญ่โลจิสติกส์ของไทย และตำแหน่งผู้นำสลับขึ้นลงกับ “ดีเอชแอล”

“บริษัทมีศูนย์กลางโลจิสติกส์ 32 แห่งทั่วประเทศ พื้นที่รวมกว่า 3 แสนตร.ม. และหน่วยรถกว่า 800 คัน ทุกๆ5 ปีเราจะมีการลงทุนใหญ่รองรับการเติบโต ส่วนการทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งนี้ นอกจากจะผลักดันการเติบโตรายได้ เราต้องการเป็นบริษัทโลจิสติกส์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”