ปั้น “อีโคซิสเทม” ส่งฟู้ดเทคไทยไปดวงดาว

ปั้น “อีโคซิสเทม” ส่งฟู้ดเทคไทยไปดวงดาว

ความร่วมมือของ 4 องค์กรที่เป็นเจ้าสังเวียนบ่มเพาะสตาร์ทอัพ อุตสาหกรรมเอสเคิร์ฟไทย จากพื้นฐานเมืองเกษตร สู่ครัวของโลกในยุคฟู้ดเทคซึ่งเป็นเทรนด์อาหารโลก ผ่านโครงการ SPACE-F เฟ้นหานวัตกรรมด้านอาหารในไทยดาวเด่นป้อนตลาดโลก 

แม้สตาร์ท์สายพันธุ์ไทยจะถูกปลุกปั้นโดยการระดมสรรพกำลังของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบมากมาย ทว่าผ่านมาหลายปียังไม่เห็นสู่ยูนิคอร์น ตัวแรก (ธุรกิจมีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านดอลลาร์)ในไทย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่สามารถสร้างดาวเด่นแจ้งเกิดได้สำเร็จ ทั้งในอินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญที่สกัดกั้นการเติบโตของสตาร์ทอัพ คือ ปัญหาด้านกฎระเบียบ รวมถึงการสร้างระบบนิเวศ(Ecosystem) หลายคนจึงหันไปเติบโตในต่างแดนแทนในประเทศ

นี่จึงเป็นเหตุผลของความพยายามรวมตัวกันของ 4 องค์กรที่มีประสบการณ์และวิชาความรู้ในการปั้นสตาร์ทอัพในประเทศ ประกอบด้วย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปลุกปั้นสตาร์ทอัพ ฟู้ดเทคในไทย ร่วมกับ WeWork หนึ่งในผู้สร้าง Ecosystem ชุมชนสตาร์ทอัพระดับโลก มาสร้างสิ่งแวดล้อม และระบบที่เอื้อให้สตาร์ทอัพเติบโตเป็นธุรกิจความหวังของประเทศ ทำให้อุตสาหกรรมเกษตรสินทรัพย์ในดินมีมูลค่าเพิ่ม สร้างกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน

การดึงองค์กรภายนอกประเทศอย่าง WeWork มาเชื่อมต่อกับองค์กรส่งเสริมสตาร์ทอัพในไทย ยังช่วยปลดล็อคปัญหาผ่านโครงการ SPACE-F มีข้อดีตรงที่ไม่มีการถือหุ้นในบริษัทสตาร์ทอัพ ซึ่งผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพมีกรรมสิทธิ์ในไอเดียและผลิตภัณฑ์ต่างๆที่คิดขึ้นมาเองได้ โดยเมื่อสิ้นสุดโครงการก็สร้างช่องทางหาโอกาสพบนักลงทุนที่มีศักยภาพ

โดย มร.เอเดรียน ตัน หัวหน้าฝ่าย WeWork Labs ของ WeWork ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งพัฒนาพื้นที่รวมกลุ่มสตาร์ทอัพผู้สร้างสรรค์ผ่านที่ Co-Working space ที่มีสำนักงานอยู่ 485 แห่ง 105 เมือง 28 ประเทศทั่วโลก และยังพัฒนาบนในโลกเสมือนจริง (Virtual Reality-VR) ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 466,000 คนทั่วโลก จึงถือผู้เชี่ยวชาญชุมชนคนทำงานด้านสตาร์ทอัพใหญ่ระดับโลก ที่รวมผู้คนสร้างสรรค์ ซัพพลายเชน และ Ecosystem ที่เกี่ยวโยงกับผู้มีส่วนในการปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่เข้าใจบริบทของการแปลงไอเดียล้ำๆ ที่เหนือความคาดหมายในคนให้กลายเป็นธุรกิจที่สร้างการเปลี่ยนแปลงตลาด

จิ๊กซอว์ที่ทำให้ไทยเข้าถึงระบบนิเวศสตาร์ทอัพระดับสากล โดยการค้นหาไอเดียตั้งต้นในพื้นที่ของWeWork Labs ที่มีใน 60 แห่งทั่วโลก จะช่วยในการการพัฒนาทางความคิดเป็นไปได้อย่างสะดวกโดยไม่จำกัดเพียงแค่ความรู้และแนวคิดเมืองไทย ร่วมสร้างมูลค่าด้วยการให้คำแนะนำ ให้ความรู้และเสริมสร้างความสามารถที่จำเป็นให้กับสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการ SPACE-F และได้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญระดับโลกในเครือข่าย WeWork Labs 

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เล่าถึงเป้าหมายของโครงการ SPACE-F คือการจะสร้างแพลตฟอร์มสนับสนุนและส่งเสริมสตาร์ทอัพ พัฒนาเทคโนโลยีเชิงลึก ( Deep Tech) ทางด้านอุตสาหกรรมอาหาร โดยการอำนวยความสะดวกปัจจัยเสริมกับ WeWork โดยการให้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม ห้องปฏิบัติการและวิจัยเกี่ยวกับอาหาร (Food Labs) เป็นปัจจัยช่วยเร่งสตาร์ทอัพให้เติบโตไปสู่ระดับเวทีระดับโลก 

รองศาสตราจารย์ ดร.กัณยารัตน์ สุไพบูลย์วัฒน รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นเพิ่มเติมถึงทิศทางการพัฒนาสตาร์ทอัพของไทย โดยใช้ทรัพยากรองค์ความรู้ด้านวิชาการผนวกกับคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นแหล่งองค์ความรู้ที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ ที่จะนำมาช่วยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็นผู้นำอุตสาหกรรมในอนาคต ด้วยการเสริมสร้างวิสัยทัศน์ให้กับสตาร์ทอัพ พร้อมกันกับช่วยสร้างระบบ ecosystem คือสิ่งที่สำคัญซึ่งจะช่วยให้บริษัทสตาร์ทอัพสามารถเติบโตและสร้างผลงานได้

“มหาวิทยาลัยมหิดล มีเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งทางด้านวิชาการและด้านวิจัยกับมหาวิทยาลัย สถาบัน และองค์กรระหว่างประเทศเป็นจำนวนมาก มีบันทึกความร่วมมือหรือบันทึกข้อตกลง (MoU/MoA) 434 สถาบัน จาก 46 ประเทศ โดยร่วมมือในการทำวิจัยและการศึกษาในต่างประเทศ”

ขณะที่ ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการกลุ่มด้านนวัตกรรม บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)ผู้นำธุรกิจอาหารทะเลของโลกมากกว่า 40 ปี และเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุภาชนะที่ใหญ่ที่สุดในโลกมียอดขาย 133,300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเจ้าของแบรนด์ทั่วโลก ประกอบด้วย แบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดโลกอย่าง Chicken of the Sea, John West, Petit Navire, Parmentier, Mareblu, King Oscar และ Rügen Fisch ส่วนแบรนด์ในไทย ได้แก่ ซีเล็ค ฟิชโช คิวเฟรช โมโนริ เบลลอตต้า และมาร์โว่

โดยกลยุทธ์ของกลุ่มธุรกิจมุ่งเน้นที่ความยั่งยืนมาตลอด จึงเน้นในด้านนวัตกรรมและดำเนินงานด้วยความรับผิดชอบทั่วโลก ได้เปิดตัวกลยุทธ์ด้านความยั่งยืน (SeaChange) และยังได้ลงนามภาคีข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเพื่อความยั่งยืนในกลุ่มอาหารทะเลสากล (International Seafood Sustainability -ISSF) ซึ่งการสนับสนุนของเครือข่ายสตาร์ทอัพทั่วโลกของ บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป และโปรแกรมของสนช. จึงเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะมองหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืน

“นวัตกรรมในอุตสาหกรรมอาหารสามารถช่วยยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารไทยสู่สากล การได้ร่วมมือกับ WeWork Labs จะเป็นการเปิดลู่ทางใหม่เพื่อให้สตาร์ทอัพได้พิสูจน์ไอเดีย โดยไทยยูเนี่ยนเป็นผู้ผลักดันประเทศไทยให้ก้าวไปสู่เวทีโลก เป็นการสร้างคลื่นลูกใหม่สตาร์ทอัพฟู้ดเทคที่จะเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมนี้”