สวยอย่างยั่งยืนด้วย‘ชุดเช่า’

สวยอย่างยั่งยืนด้วย‘ชุดเช่า’

จำได้มั้ยว่าคุณซื้อชุดราตรีหรูแสนแพงไปออกงานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ ลงทุนซื้อมาใส่แค่ครั้งหรือสองครั้ง ที่เหลือก็ใส่แต่เสื้อยืด ทิ้งชุดหรูไว้ในตู้เสื้อผ้าให้ฝุ่นเกาะ

นั่นคือคืนวันเก่าๆ ของสาวๆ อเมริกัน ตอนนี้พวกเธอหันมาใช้บริการเช่าชุดกันมากขึ้น ไม่ต้องซื้อเสื้อผ้ามาให้รกตู้ แต่รู้หรือไม่ว่า เทรนด์นี้กำลังเป็นภัยคุกคามอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแบบเดิมๆ

เคย์ลา มาร์ซี นักวิเคราะห์ตลาดจากบริษัทวิจัยเอดิเต็ด ยอมรับว่า ตอนนี้ธุรกิจเช่าชุดมาแรงมากในวงการค้าปลีก

ผลการศึกษาของบริษัทปรึกษาธุรกิจ “แกรนด์วิวรีเสิร์ช” เผยแพร่เมื่อเดือน เม.ย. พบว่า เมื่อ 10 ปีก่อน สาวๆ เช่าเสื้อผ้าเพื่อสวมไปงานสำคัญ แต่นับจากนั้นธุรกิจก็เปลี่ยนแปลงไป จนตอนนี้ทำยอดขายทั่วโลกได้ถึง 1 พันล้านดอลลาร์แล้ว

แจ็กเกอลีน แจ็กสัน ผู้บริหารบริษัทเครื่องสำอาง เกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาตอนที่นึกได้ว่าการสมัครสมาชิกรายเดือนแบบไม่จำกัดกับ “เรนท์เดอะรันเวย์” (อาร์ทีอาร์) ขาใหญ่วงการเช่าชุดของสหรัฐ เพื่อหาชุดสวยสวมไปงานวิวาห์สักงานก็แค่จ่ายเงินไม่เท่าไหร่

“ดีมากเลยที่มีตัวเลือกแบบนี้ เรามีเสื้อผ้าแบบไม่จำกัด สวมชุดไหนก็ได้ที่เราไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของ เพราะสินค้าหลายตัวแพงมาก และฉันเองก็ไม่มีเวลาออกไปชอปมากนัก” แจ็กสัน คุณแม่ลูกสองเผยความรู้สึก

อาร์ทีอาร์ก็ไม่ต่างจากคู่แข่งอีกหลายราย ที่มีสมาชิกรายเดือนกว่า 11,000 คน ให้บริการเสื้อผ้าสำเร็จรูปตั้งแต่แบรนด์หรูอย่างวิกตอเรีย เบคแฮม,โพรเอนซา สคูลเลอร์ และฟิลิป ลิม แต่ละชิ้นหากไปซื้อหาต้องใช้เงินหลายร้อยดอลลาร์

แต่สมาชิกอาร์ทีอาร์จ่ายแค่เดือนละ 89 ดอลลาร์ก็เช่าได้ครั้งละ 4 ชิ้น ส่วนสมาชิกประเภทอันลิมิเต็ด จ่ายเดือนละ 159 ดอลลาร์ตอนนี้ธุรกิจอาร์ทีอาร์ทำเงินไปถึง 1 พันล้านดอลลาร์แล้ว

ขณะที่อาร์มัวร์ สตาร์ทอัพในซีแอตเทิล ที่มีผู้ติดตามหลายพันคน คิดค่าบริการเดือนละ 149 ดอลลาร์ รวมทั้งทำข้อตกลงกับองค์กรไม่หวังผลกำไร “เดรสฟอร์ซัคเซส”บริการชุดทำงานฟรีสำหรับผู้หญิงที่จำเป็นต้องใช้

เมื่อลูกค้าอาร์ทีอาร์ได้สวมชุดแล้วอยากเปลี่ยนก็ส่งคืนผ่านบริการยูพีเอส หรือไม่ก็มาคืนที่ร้าน บริษัทจะดูแลทำความสะอาดเอง นอกจากนี้ลูกค้ายังได้สิทธิพิเศษซื้อของชิ้นนั้นไปเลยในราคาลดแล้ว

“เวลาคุณซื้อเสื้อผ้า คุณต้องคิด ฉันจะใส่ได้กี่ครั้งน้า ฉันจะใส่บ่อยหรือเปล่า ส่วนใหญ่คุณก็เลยซื้อสีพื้นๆ เพราะไม่อยากเปลืองเงินซื้อของทันสมัยจ๋า แต่ใส่ได้แค่ครั้งสองครั้งแต่ที่นี่คุณได้สวมใส่เสื้อผ้าทันสมัย จะใส่ครั้งเดียวก็ไม่เห็นเป็นไร” แจ็กสันกล่าว

ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มเสื้อผ้ามากมาย ให้บริการเฉพาะผู้หญิงเท่านั้น โดยนำข้อมูลจากลูกค้าไม่ว่าจะความชอบหรือขนาดมาประมวลผลโดยใช้เอไอ แล้วนำเสนอเสื้อผ้าที่เชื่อว่า ผู้ติดตามเห็นแล้วต้องอยากสวมใส่

“เราโชว์ให้ลูกค้าเห็นว่า รู้นะว่าพวกเธอชอบแบบไหน แต่เราก็ค่อยๆ ทำให้พวกเธอออกจากคอมฟอร์ทโซน เสนอเสื้อผ้าที่ปกติลูกค้าไม่ค่อยเลือก ไม่ค่อยสวม” ลิลี มอร์ตัน หัวหน้าฝ่ายพัฒนาลูกค้าของอาร์มัวร์เผยเคล็ดลับ

ไพ่เด็ดอีกใบสำหรับบริการเช่าเสื้อผ้าอยู่ที่ความยั่งยืน และปฏิเสธการบริโภคเกินความจำเป็น จึงต้องนำเสนอเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับลูกค้า

แม้แต่อิเกีย ยักษ์ใหญ่เฟอร์นิเจอร์จากสวีเดนก็ให้เช่าเฟอร์นิเจอร์ บริการที่เฟอร์นิช สตาร์ทอัพจากสหรัฐให้บริการไปเรียบร้อยแล้ว

แหล่งข่าวจากหลายแวดวงเผยว่า สิ่งของส่วนใหญ่ถูกใช้ราว 15 ครั้งก่อนถูกเปลี่ยน

“ดิฉันคิดว่าคนเดี๋ยวนี้ซื้อเสื้อผ้าหวือหวาน้อยลง จะซื้ออะไรก็ดูที่คุณภาพใส่ได้นานๆ ไม่ต้องรกตู้เสื้อผ้า ได้ใช้เงินซื้อของที่คุณภาพดีไปเลย” แจ็กสันเสริม

แล้วการเช่าเสื้อผ้ามีประโยชน์ด้านใดได้อีก คำตอบคือสำหรับเสื้อผ้าบางแบรนด์การเช่ายังเปิดทางให้ได้พบกับลูกค้าใหม่ๆ แต่โดยทั่วไปแล้วบริการเช่าเป็นคู่แข่งกับเสื้อผ้าสำเร็จรูป

ตอนที่ธุรกิจเริ่มออกตัว หลายๆ แพลตฟอร์มเช่น ฮาเวอร์แดช เปิดตัวทางเลือกให้สวยงามได้ในราคาประหยัด ที่แบรนด์เก่าแก่อย่างอเมริกันอีเกิล, แอนน์ ไทเลอร์ และเออร์บัน เอาท์ฟิตเตอร์ส ก็เอาอย่างด้วย

“แพลตฟอร์มเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมแฟชั่น และเปลี่ยนวิธีการชอปของพวกเราด้วย” นักวิเคราะห์ตลาดอย่างมาร์ซีกล่าว ส่วนแจ็กสันตั้งแต่เป็นสมาชิกอาร์ทีอาร์ เธอซื้อข้าวของน้อยลงและเน้นของพื้นๆ มากขึ้น

“เช่าก็คือการแบ่งปันกันนั่นล่ะ คุณไม่ต้องซื้อ ซื้อ ซื้อ” แจ็กสันย้ำ ถึงตรงนี้หลายคนคงได้คำตอบแล้วว่า เช่าเสื้อผ้าดีตรงไหน