ประท้วงฮ่องกงฉุดรายได้“ท่องเที่ยว-สินค้าแบรนด์หรู”

ประท้วงฮ่องกงฉุดรายได้“ท่องเที่ยว-สินค้าแบรนด์หรู”

การชุมนุมประท้วงในฮ่องกงที่เกิดขึ้นถี่ๆในช่วงที่ผ่านมาและมีปมมาจากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของทางการฮ่องกง นอกจากจะสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่นักลงทุนต่างชาติมีต่อฮ่องกงแล้ว ยังส่งผลกระทบทำให้รายได้ของธุรกิจสินค้าหรูหราและการท่องเที่ยวด้วย

ริชมอนท์ เจ้าของนาฬิกาข้อมือแบรนด์หรูสัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ ถือเป็นเจ้าของแบรนด์หรูรายล่าสุดที่ได้รับผลกระทบทางธุรกิจจากปัญหาการชุมนุมขับไล่นางแคร์รี ลำ หัวหน้าเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และต่อต้านร่างกฏหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้ทางการปักกิ่ง 

บริษัทค้าปลีกแทบทุกแห่งในเกาะฮ่องกงคาดการณ์ว่าปีนี้ทั้งปียอดขายจะร่วงลงเพราะการชุมนุมประท้วงที่มีหลายช่วงและกินเวลาหลายวัน เช่นเดียวกับธุรกิจท่องเที่ยวที่คาดการณ์ว่ารายได้ในปีนี้จะปรับตัวลง

สมาคมผู้ค้าปลีกฮ่องกง ออกแถลงการณ์ว่ายอดขายในเดือนที่ผ่านมาลดลงและคาดการณ์ว่ายอดขายโดยรวมตลอดทั้งปีน่าจะปรับตัวลดลง

“มีร้านค้าปลีกหลายแห่งปิดตัวไปไม่ใช่เพราะยอดขายตกลงอย่างเดียว แต่เพราะรายได้ที่ได้มาไม่สอดรับกับรายจ่าย โดยเฉพาะต้นทุนค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงาน ทั้งพนักงานประจำและพนักงานพาร์ทไทม์ รวมทั้งค่าคอมมิชชัน ”แถลงการณ์จากสมาคมผู้ค้าปลีกฮ่องกง ระบุ

สมาคมค้าปลีกฮ่องกง ระบุด้วยว่า ช่วงเดือนก.ค.และเดือนส.ค.เป็นช่วงพีคของธุรกิจค้าปลีกในฮ่องกงแต่การชุมนุมประท้วงยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มว่าจะกระจายไปยังส่วนอื่นๆ ทำให้สมาคมฯคาดการณ์ว่า จำนวนร้านค้าที่เป็นสมาชิกของสมาคมจะลดลงเป็นตัวเลขสองหลักในระยะ2-3 เดือนข้างหน้านี้

ขณะที่สมาคมท่องเที่ยวฮ่องกง ระบุว่า จำนวนกรุ๊ปทัวร์จากจีนแผ่นดินใหญ่ร่วงลงไปเหลือ 5,641 คนในเดือนมิ.ย.จากเฉลี่ยอยู่ที่เดือนละ 7,800 คนตั้งแต่ต้นปี  เช่นเดียวกับอัตราการเข้าพักตามโรงแรมลดลงมากถึง 20% ในเดือนมิ.ย.เทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ และคาดว่าอัตราการเข้าพักจะลดลง40% ในเดือนนี้

       เมื่อวันที่ 14ก.ค.ที่ผ่านมา ชาวฮ่องกงหลายพันคนรวมตัวประท้วงกันที่ย่านซาถิ่น ฝั่งดินแดนใหม่ เพื่อแสดงพลังต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนอีกครั้ง แม้สภาพอากาศในฮ่องกงจะร้อนจัด โดยผู้ชุมนุมนัดรวมตัวกันที่วัดแชกง ก่อนเดินขบวนไปยังศูนย์การค้านิวทาวน์พลาซา เป็นระยะทาง 1.6 กิโลเมตร ซึ่งนอกจากคนหนุ่มสาวแล้ว ยังมีเด็กๆ และผู้สูงวัยมาร่วมเดินขบวนด้วย ทั้งยังมีผู้ประท้วงบางคนที่ถือธงฮ่องกง สมัยที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่าไม่ยอมรับอำนาจของจีน

ด้านซาถิ่น คอมมอนส์ ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดการชุมนุมและเดินขบวนครั้งล่าสุดนี้ เผยว่า การชุมนุมครั้งนี้จัดขึ้นหลังจากชาวเน็ตลงชื่อกันเมื่อช่วงที่ผ่านมาของสัปดาห์ว่า อยากจะแสดงพลังกันอีกครั้ง ทั้งยังนัดกันใส่เสื้อสีดำเหมือนการชุมนุมต่อต้านกฎหมายฉบับดังกล่าวในหลายครั้งก่อนหน้า

การเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 13 ก.ค. มีการชุมนุมเพื่อต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนที่ย่านเสิ่งโสย ใกล้ชายแดนจีนที่ติดต่อกับเมืองเซินเจิ้น มณฑลกวางตุ้ง และมีการปะทะกับตำรวจจนกลายเป็นเหตุรุนแรงอีกครั้ง

ช่วงต้นเดือน มิ.ย. นางแคร์รี ลำ หัวหน้าคณะผู้บริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง พยายามผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเข้าไปยังสภานิติบัญญัติ และถ้าหากร่างกฎหมายนี้ผ่านสภานิติบัญญัติและบังคับใช้ได้ จะทำให้ฮ่องกงส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังประเทศและดินแดนอื่นๆ รวมถึงจีน

ด้วยเหตุผลดังกล่าวประชาชนจำนวนมากในฮ่องกง รวมถึงนักกฎหมาย ทนายความ และอาชีพอื่นๆ จึงออกมาชุมนุมต่อต้าน จนกลายเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 22 ปี เพราะหลายคนไม่เชื่อมั่นต่อระบบยุติธรรมของจีน ทั้งยังมองว่าจะทำให้จีนเข้ามาแทรกแซงระบบยุติธรรมของฮ่องกง และใช้กฎหมายนี้เป็นเครื่องมือปิดปากผู้ที่เห็นต่างกับรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ ที่ปกครองจีน อยู่ด้วย

และแม้ว่านางลำ ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง จะยอมระงับการพิจารณาร่างกฎหมายนี้ไปแล้ว แต่ประชาชนก็ยังไม่พอใจ และเรียกร้องให้ถอนกฎหมายนี้ออกจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เพราะไม่ไว้ใจว่า วันหนึ่งอาจถูกนำมาพิจารณาใหม่อีก

ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าการประท้วงต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนของฝูงชนนับล้านในฮ่องกงอาจกระทบชื่อเสียงในฐานะฮับการเงินที่มีเสถียรภาพ และสิงคโปร์ฮับการเงินคู่แข่งก็อาจได้ประโยชน์จากวิกฤตินี้

นายลอว์เรนซ์ โลห์ ผู้อำนวยการศูนย์เพื่อธรรมาภิบาล สถาบัน และองค์กรจากโรงเรียนธุรกิจ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ กล่าวว่า วิกฤติทางการเมืองของฮ่องกงบั่นทอนชื่อเสียงของเขตปกครองพิเศษของจีนแห่งนี้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชีย

ฮ่องกงและสิงคโปร์  แข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งจุดหมายปลายทางทางการเงินอันดับ 1 ของเอเชียมานานหลายปี ด้วยการดึงดูดธุรกิจระหว่างประเทศจากทั่วโลก แต่การที่คณะผู้บริหารเกาะฮ่องกงที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลปักกิ่ง ตัดสินใจเสนอร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ จึงเกิดกระแสความกังวลในแวดวงธุรกิจ และส่งผลให้ชาวฮ่องกงมากถึง 2 ล้านคนออกมาชุมนุมประท้วงบนท้องถนน