ปั้นโครงการ University – Industry Links

ปั้นโครงการ University – Industry Links

บริติช เคานซิล ปั้นโครงการ University – Industry Links ยกระดับสถาบันอุดมศึกษา - อุตสาหกรรมไทยสู่เวทีระดับโลก

 “คน” และ “นวัตกรรม” เป็นหัวใจหลักในการสร้างประเทศให้มีความเข้มแข็งและสามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ จึงเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาศักยภาพคนทั้งด้านความรู้และทักษะ ด้วยการสอนทักษะใหม่ (re-skill) การสอนทักษะเพิ่มเติม (up-skill) และการสอนทักษะที่หลากหลาย (multi-skill) ผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นแต้มต่อที่ผลักดันให้คนและประเทศพัฒนาอย่างยั่งยืน

จากความสำคัญดังกล่าว บริติซ เคานซิล ประเทศไทย จึงจัดทำโครงการความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรม (University – Industry Links) โดยทำงานร่วมกับ เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมในไทยและสหราชอาณาจักร ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง 2 ประเทศ ซึ่งจะช่วยสร้างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอาหารอย่างมีกลยุทธ์ให้กับประเทศไทย แล้วต่อยอดไปสู่การพัฒนาสินค้าที่มีนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดในปัจจุบัน

นายแอนดรูว์ กลาส ผู้อำนวยการ บริติช เคานซิล ประเทศไทย กล่าวว่า University – Industry Links เป็นโครงการเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ของไทยสู่นานาชาติ และช่วยลดช่องว่างการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรม ผ่านการร่วมกันแชร์ความรู้และความเชี่ยวชาญแต่ละด้าน เพราะการยกระดับความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศจะต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยเกิดขึ้นได้จากการสร้างความรู้และงานวิจัยด้านนวัตกรรม ผสมผสานไปกับการยกระดับทักษะให้กับภาคแรงงาน ซึ่งโมเดลการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมถือว่าเป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์มากที่สุด

สำหรับโครงการ University – Industry Links มีการดำเนินงาน 2 กิจกรรม คือ โครงการการมองอนาคต (Foresight Project) มีเป้าหมายพัฒนาแผนยุทธศาสตร์เพื่อระบุแนวทางการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมอาหาร ขยายฐานงานวิจัยและความร่วมมือในประเด็นเป้าหมายตามที่ระบุไว้เป็นผลลัพธ์ของแผนยุทธศาสตร์ และโครงการการประเมินคุณภาพทางสัมผัส และพฤติกรรมผู้บริโภค (Sensory and Consumer Behaviors Project) เป็นการสร้างทรัพยากรบุคคลที่สามารถวิเคราะห์ความรู้สึกและเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยสร้างความสามารถทางการแข่งขันในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารไทยในตลาดอาหารระหว่างต่างประเทศ

“อุตสาหกรรมอาหารเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (S-Curve) ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศไทยตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมอาหารก็มีบทบาทสำคัญในสหราชอาณาจักร     

อีกด้วย เห็นได้จากรายจ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มของประชากรในสหราชอาณาจักรมีมูลค่ารวมกว่า 203,000  ล้านปอนด์ หรือ 9.1 ล้านล้านบาท สหราชอาณาจักรจึงให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมนี้อย่างมาก ดังนั้น กล่าวได้ว่า อุตสาหกรรมอาหารเป็นเรื่องสำคัญของไทยและสหราชอาณาจักร ซึ่งเป็นโอกาสดีที่บริติช เคานซิล ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมขับเคลื่อนงานด้านนี้ ผ่านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาสู่ความเป็นนานาชาติ และต่อยอดการทำงานกับภาคอุตสาหกรรมให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น”

ทั้งนี้ ประเด็นความร่วมระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมได้ถูกหยิบยกไปพูดถึงบนเวที Going Global 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศเยอรนีเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดยเวทีดังกล่าวเป็นงานสัมมนาด้านการศึกษาระดับโลกที่ให้ผู้นำด้านการศึกษาจากทั่วโลกได้มานำเสนอและหารือเกี่ยวกับนโยบาย และแนวคิดใหม่ๆ โดย ผศ.ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาษ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. และผู้อำนวยการเมืองนวัตกรรมอาหาร เป็นหนึ่งในตัวแทนจากประเทศไทยที่ได้ไปนำเสนอแนวคิดและรูปแบบการทำงานระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมของไทย

ดร.อัครวิทย์ กล่าวว่า จากการเข้าร่วมงาน Going Global 2019 ได้รับฟังมุมมองด้านการศึกษาจากหลายประเทศก็พบว่ามีจุดร่วมคล้ายคลึงกับประเทศไทย โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (emerging markets) ที่มีปัญหาเหมือนกันในเรื่องความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งยังมีช่องว่างในการทำงานร่วมกัน ดังนั้น ถ้าหากต้องการเสริมศักยภาพให้กับคนเพื่อไปพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จะต้องมีแนวทางผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษากับภาคอุตสาหกรรมทำงานร่วมกันมากกว่าเดิม โดยมหาวิทยาลัยมีบทบาทในการทำงานร่วมกับภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อสร้างงานวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศ และพัฒนาทักษะของผู้เรียนไปพร้อมกัน

“การทำงานของเมืองนวัตกรรมอาหารกับ บริติช เคานซิล จะผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น ด้วยบทบาทของเมืองนวัตกรรมอาหารที่เป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งสหราชอาณาจักรก็มีความเข้มแข็งและเชี่ยวชาญในด้านของการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้ว ดังนั้น โครงการ University - Industry Links จะช่วยเชื่อมโยงสถาบันอุดมศึกษาและภาคอุตสาหกรรมจากสหราชอาณาจักรกับประเทศไทยให้เกิดการแชร์องค์ความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ ซึ่งการนำโมเดลจากต่างประเทศเข้ามาจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน และสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานจริงได้อย่างรวดเร็ว”

ดร.อัครวิทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของแผนงานความร่วมมือกับ บริติช เคานซิล ระยะถัดไป นอกจากจะต่อยอดโครงการเดิมที่ทำอยู่แล้ว อาจเดินหน้าไปถึงเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development : HRD) และการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีจากสหราชอาณาจักรอีกด้วย