รพ.ทรานส์ฟอร์ม ลดแออัด-กระชับคิว

รพ.ทรานส์ฟอร์ม ลดแออัด-กระชับคิว

แชร์ประสบการณ์การทำ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” ของ รพ.น่านและ รพ.นครพนม เป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพงานบริการ สร้างความพึงพอใจให้ผู้รับบริการตลอดจนลดอัตราตายของผู้ป่วย

แชร์ประสบการณ์การทำ “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” ของ รพ.น่านและ รพ.นครพนม เป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพงานบริการ สร้างความพึงพอใจให้ผู้รับบริการตลอดจนลดอัตราตายของผู้ป่วย จากเวทีประชุมหัวข้อ Digital Transformation of Healthcare ในงาน MDA 2019 งานแสดงอุปกรณ์การแพทย์นานาชาติและการประชุมวิชาการทางการแพทย์


สมาคมเวชสารสนเทศไทย (TMI) มีสมาชิกจากหน่วยงานทั้งทหาร กระทรวงสาธารณสุขและมหาวิทยาลัยแพทย์ต่างๆ ได้มองเห็นความสำคัญของการนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาใช้ทางการแพทย์ จึงจัดตั้งกลุ่มทำงานด้าน Medical Informatics ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนา “เทคโนโลยีสารสนเทศในโรงพยาบาล” ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วใน 50 จังหวัด มีทั้งที่กำลังเริ่มต้นใช้ไอทีและที่เริ่มเห็นผลลัพธ์


รพ.นครพนม - รพ.น่าน เป็นตัวอย่างที่เริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงในงานบริการหลังจากเข้าร่วมโครงการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศกับทางสมาคมฯ โดยเฉพาะการลดระยะเวลารอคิวรับบริการ ลดความแออัดหน้าห้องตรวจ ลดอัตราการติดเชื้อและอุบัติเหตุในโรงพยาบาล


พิณทิพย์ ซ้ายกลาง เจ้าพนักงานเวชสถิติชำนาญงาน รพ.นครพนม กล่าวว่า โรงพยาบาลเป็นระดับเอส มี 345 เตียง บุคลากรทางการแพทย์ 1,000 คน รองรับผู้ป่วย 5.6 แสนคนต่อปี พบปัญหาความหนาแน่นของผู้รับบริการที่ไม่คลี่คลาย แม้ว่าจำนวนบุคลากรที่ให้บริการจะเพิ่มขึ้นก็ตาม ปัญหาหลักที่ตามมาคือ ผู้ป่วยรอนาน ทางโรงพยาบาลถูกร้องเรียนและเจ้าหน้าที่มีภาระงานเพิ่ม ทำให้ทางผู้บริหารสนใจนำไอทีดิจิทัลมาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนติดตั้งตู้คีออสสำหรับการตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล ส่วนซอฟต์แวร์ที่ใช้นั้นก็พัฒนาขึ้นเองแทนการซื้อในราคาหลักแสน การใช้สมาร์ทการ์ดเพื่อยืนยันตัวบุคคลและแยกประเภทโรคเพื่อส่งต่อไปยังห้องตรวจ การจัดทำระบบคิวอัตโนมัติ


ระบบดิจิทัลนี้เพิ่งเริ่มใช้เมื่อ 1 ก.ค.ที่ผ่านมานี้ เบื้องต้นสังเกตพบว่า ความแออัดหน้าห้องตรวจลดลง การระบุชื่อผู้ป่วยผิดพลาดน้อยลง และลดภาระงานเจ้าหน้าที่ในขั้นตอนการทำนัดหรือยกเลิกนัด ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถโยกไปปฏิบัติภารกิจอื่นเพิ่มได้


ทางด้าน รพ.น่าน แม้ว่าเริ่มแรกตั้งใจจะทำระบบนัดล่วงหน้าอัตโนมัติแต่พบปัจจัยเกี่ยวข้องค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องทำการรักษาด่วน ส่งผลกระทบต่อคิวนัดอื่นๆ จึงประยุกต์นำความรู้ไปใช้กับงานบริการส่วนอื่นที่เป็นยูนิตเล็กๆ ก่อน คือ ระบบห้องฉุกเฉินกับระบบบริการทันตกรรม


นายแพทย์กนก พิพัฒน์เวช รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบบริการและสนับสนุนบริการสุขภาพ รพ.น่าน กล่าวว่า Q4U ระบบจัดการคิวในโรงพยาบาล พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีความเหมาะสมกับโรงพยาบาลนี้ โดยช่วยให้ผู้ป่วยทราบว่าต้องรออีกกี่คิว ระยะเวลาเท่าใด ในช่วงเวลานั้นก็สามารถเดินไปทำธุระยังจุดอื่นก่อน ทำให้ลดความแออัดหน้าจุดบริการลงได้ ซึ่งก็เป็นไปตามเป้าหมาย


ในส่วนของงานบริการของห้องฉุกเฉิน จากเดิมอยู่แยกตึกกับแผนกยื่นบัตรคนป่วย ทำให้บางคนไม่สะดวกและใช้เวลานานกว่าจะเดินไปกลับ จึงจัดใหม่โดยบูรณาการไอทีเข้ากับอีอาร์ หรือนำแผนกยื่นบัตร/ตรวจสอบสิทธิ์ (ดาต้าเบส) มาไว้บริเวณเดียวกับห้องฉุกเฉิน (อีอาร์) รวมถึงจัดการอบรมปรับพฤติกรรมพยาบาลให้จดบันทึกเป็นไฟล์ดิจิทัลแทนสมุดโน้ต เป็นต้น เบื้องต้นพบว่า ระบบไอทีช่วยลดเวลาการทำประวัติผู้ป่วยเหลือ 1 นาทีจาก 12 นาที ลดความเสี่ยงการแพ้ยา ข้อมูลดิจิทัลสามารถนำไปเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่นๆ สำหรับจัดทำเป็นข้อมูลสถิติที่นำเสนอให้ผู้บริหารได้ทันที ทั้งยังช่วยให้จัดเก็บค่าบริการได้ครบทุกรายการรักษา เป็นต้น


นายแพทย์วรรษา เปาอินทร์ เลขาธิการสมาคมเวชสารสนเทศไทย กล่าวว่า การนำดิจิทัลหรือไอทีมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงพยาบาลให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ขั้นตอนแรกซึ่งสำคัญที่สุด จะต้องทำความเข้าใจกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการเปลี่ยนแปลง ถัดมาจัดการระดมสมองเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ร่วมกัน มีการประเมินหาจุดที่ต้องการนำไอทีมาใช้ ลงมือทำและวัดผล หากประสบผลในทางที่ดีก็ต่อยอดขยายผล แต่หากล้มเหลวก็ต้องวิเคราะห์แล้วปรับปรุงต่อไป


“สิ่งสำคัญในการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นคือ ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบดิสรัปในองค์กร หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะเป็นแค่การนำไอทีมาใช้เท่านั้นซึ่งแตกต่างจากการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม” นายแพทย์วรรษา กล่าว