ไทยส่งหนังสือด่วนถึงลาว ขอชะลอทดสอบเขื่อนไซยะบุรี

ไทยส่งหนังสือด่วนถึงลาว ขอชะลอทดสอบเขื่อนไซยะบุรี

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งประสานกับเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว ขอให้ชะลอทดสอบระบบไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรีจนกว่าจีนปล่อยน้ำเพิ่ม พร้อมคาด 3 วันระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สทนช. ได้ทำหนังสือด่วนผ่านคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติลาว และเร่งประสานอย่างไม่เป็นทางการกับเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว เพื่อให้ สปป. ลาว พิจารณาชะลอการทดลองใช้งานเขื่อนไซยะบุรี ในจังหวัดไซยะบุรี ซึ่งเป็นการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อนออกไปประมาณ 2-3 วัน 

ทั้งนี้ เพื่อรอให้น้ำที่ระบายเพิ่มขึ้นจากเขื่อนจิ่งหงของจีนที่อยู่ตอนบนของแม่น้ำและอยู่ในระหว่างปิดซ่อมแซมไหลลงมาถึงก่อน ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 18 – 20 ก.ค. และคาดว่าสถานการณ์ของระดับน้ำโขงจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ก่อนหน้านี้ ได้เกิดการลดแห้งของแม่น้ำโขงจนผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ไหลผ่านภาคอีสานของไทยที่อยู่ระดับตำ่กว่าเขื่อนไซยะบุรี ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนตั้งข้อสังเกตว่าเขื่อนไซยะบุรี อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้แม่น้ำโขงแห้ง นอกเหนือจากเขื่อนจีน

เมื่อวานนี้ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ได้ออกคำชี้แจงในเอกสารข่าวที่เผยแพร่ในเวบไซต์ว่า ระดับแม่น้ำโขงช่วงต้นฤดูฝนนี้ มีระดับต่ำกว่าค่าระดับต่ำสุดตั้งแต่มีการบันทึกมา โดยมีบางปัจจัยสำคัญที่อาจเป็นสาเหตุ รวมทั้งฝนแล้ง และการกักน้ำของเขื่อนจีน

นายสมเกียรติระบุว่า จากการวิเคราะห์ของสทนช. พบว่า ปัจจัยที่ทำให้ระดับน้ำโขงลดลงมากในรอบหลายปีที่ผ่านมาเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ปริมาณฝน เขื่อนจิ่งหงของจีน และเขื่อนไซยะบุรี 

โดยปัจจัยแรกพบว่า ปริมาณฝนตกลงมาต่ำกว่าเกณฑ์ปกติทั้งที่ประเทศจีน สปป.ลาว และฝั่งไทย  

ส่วนเขื่อนจิ่งหงของจีนมีการปรับลดการระบายน้ำ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ ลงวันที่ 3 ก.ค. แจ้งเปลี่ยนแปลงการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหง ในช่วงวันที่ 9 -18 ก.ค. เพื่อดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าโรงผลิตพลังน้ำ ซึ่ง สทนช. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการทั้ง 8 จังหวัดริมโขง ได้แก่ จ.เชียงราย เลย นครพนม มุกดาหาร บึงกาฬ หนองคาย อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.

โดยปัจจุบัน ระดับน้ำโขงที่มาจากเขื่อนจิ่นหง ณ สถานีเชียงแสน จ.เชียงราย อยู่ที่ 2.1.เมตร จากระดับน้ำก่อนจีนปรับลดการระบายอยู่ที่ 2.69 เมตร  

ส่วนปัจจัยสุดท้ายคือเขื่อนไซยะบุรี ได้มีการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของเขื่อน ซึ่งเป็นเขื่อนทดน้ำ โดยมีกำหนดการทำการทดสอบในช่วงระหว่างวันที่ 15 – 29 ก.ค. ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว 

โดยระหว่างวันที่ 9 - 17 ก.ค. ทางเขื่อนได้ทำการกักเก็บน้ำบางส่วนเพื่อดำเนินการทดสอบระบบ จึงทำให้ระดับน้ำโขงฝั่งไทยลดลง และหลังจากวันที่ 17 ก.ค. จึงทำการทดสอบเครื่องปั่นไฟ ส่งให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงบริเวณท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา มีระดับสูงขึ้น 40-50 ซม.  

“จาก 3 ปัจจัยข้างต้น ส่งผลทำให้ระดับน้ำโขงลดลงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนริมฝั่งแม่น้ำโขงที่มีระดับน้ำลดลงจากก่อนทดสอบกว่า 1 เมตร” นายสมเกียรติกล่าว

สำหรับสถานการณ์ของระดับน้ำบริเวณด้านท้ายเขื่อนไซยะบุรีลงมา พบว่า สถานการณ์ทุกสถานี ระดับน้ำต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและค่าต่ำสุดที่เคยเกิดขึ้นในอดีต โดยระดับน้ำที่สถานีเชียงคาน จ.เลย ณ วันที่ 18 ก.ค. อยู่ที่ 3.83 เมตร ซึ่งต่ำกว่าค่าระดับน้ำเฉลี่ย -5.28 เมตร และต่ำกว่าค่าระดับต่ำสุด -1.43 เมตร 

นอกจากนี้ ระดับค่าความแตกต่างของระดับน้ำก่อนลดการระบายกับระดับน้ำที่ต่ำสุดในช่วงลดการระบายอยู่ที่ -1.79 เมตร ซึ่งลดต่ำลงในรอบ 28 ปี นายสมเกียรติกล่าว

เขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีนยูนนาน เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2536 โดยสร้างเสร็จไปแล้ว 10 เขื่อน จากที่วางแผนไว้ทั้งหมด 28 โครงการ โดยเขื่อนใหญ่สุดในเวลานี้ จุน้ำได้ถึง 14 ลูกบาศก์กิโลเมตร IR ระบุ

ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่าง มีแผนก่อสร้าง 11 โครงการเขื่อน ในลาว พรมแดนไทยลาว และในกัมพูชา โดยมีเขื่อนไซยะบุรี Xayaburi dam กำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกกะวัตต์เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างที่ประเทศลาว ห่างจากหลวงพระบางราว 80 กม. และห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ราว 200 กม. 

เขื่อนไซยะบุรี เป็นการลงทุนของบริษัท ช.การช่าง มูลค่าราว 1.5 แสนล้านบาท โดยมีธนาคารไทย 6 แห่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1,220 เมกกะวัตต์ เป็นเวลา 29 ปี และจะเริ่มขายไฟฟ้าตามสัญญาเดือนตุลาคมนี้