แม่น้ำโขงลดต่อเนื่อง กระทบปากท้องชาวบ้าน

แม่น้ำโขงลดต่อเนื่อง กระทบปากท้องชาวบ้าน

ผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเริ่มส่งผลต่อระบบประปาในจังหวัดหนองคายแล้ว  การประปาส่วนภูมิภาค หนองคาย เร่งระดมเจ้าหน้าที่เคลื่อนย้ายเครื่องสูบน้ำและต่อหัวท่อดูดน้ำ เพื่อให้สามารถสูบน้ำที่มีระดับต่ำ

จากระดับน้ำโขงที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ส่งผลกระทบถึงระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย เนื่องจากเครื่องสูบน้ำที่ใช้สูบน้ำดิบในแม่น้ำโขง เพื่อส่งเข้าโรงกรองน้ำในตัวเมือง สามารถสูบน้ำดิบได้เพียงเครื่องเดียวจากทั้งหมด 4 เครื่อง ส่วนอีก 3 เครื่องที่เหลือหัวดูดสูงกว่าระดับน้ำโขงที่มีระดับต่ำในช่วงนี้ ทำให้มีน้ำดิบไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา ส่งผลให้จังหวัดหนองคายน้ำประปาไหลเบา และบางพื้นที่น้ำไม่ไหลเลย

1563457140967

ล่าสุด เจ้าหน้าที่จากการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย ได้เร่งย้ายเครื่องสูบน้ำและต่อหัวท่อดูดน้ำ เพื่อให้สามารถสูบน้ำโขงที่มีระดับต่ำส่งเป็นน้ำดิบไปทำน้ำประปา ซึ่งเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นเท่านั้น

ด้านนายคมกริช ศรีปัญญา ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหนองคาย บอกว่า น้ำดิบที่นำไปผลิตเป็นน้ำประปาในจังหวัดหนองคาย ใช้น้ำจากแม่น้ำโขงทั้งหมด แต่ขณะนี้ ระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีระดับลดลงอย่างรวดเร็ว


เนชั่น ทีวี ได้โทรศัพท์สอบถามกับคุณสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ฯ ลุ่มแม่น้ำโขง – ล้านนา เปิดเผยว่า ขณะนี้ระดับน้ำโขงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายบริเวณอำเภอเชียงแสน  เชียงของ และเวียงแก่น ระยะทางกว่า 94 กิโลเมตร ซึ่งเป็นจุดหลักในการวัดระดับน้ำ พบว่า ระดับน้ำโขงลดลงอย่างเนื่อง โดยสวนทางกับแม่น้ำสาละวินที่ระดับน้ำมีปริมาณสูงขึ้น
สำหรับ สาเหตุอาจมาจากสภาพอากาศที่ผันผวน ประกอบกับการสร้างสะพานภายในเขื่อนของประเทศเพื่อนบ้านที่ห่างจากอำเภอเวียงแก่นเพียง 300 กิโลเมตร รวมถึงอาจเกิดจากการทดลองปั่นไฟจากเขื่อนอีกแห่งในประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน

1563457142413


ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ฯลุ่มแม่น้ำโขง – ล้านนา ยังบอกอีกว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ก็คือ ปัญหาการลดจำนวนลงของปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะช่วงนี้ เป็นฤดูที่ปลาจะมาวางไข่ แต่ระดับน้ำกลับลดลง ทำให้ปลาวางไข่ไม่ได้ รวมถึงระบบนิเวศน์ทางพันธุ์พืชในแม่น้ำโขงก็เริ่มตายหมด ซึ่งพันธุ์พืชเหล่านี้เป็นอาหารหลักของปลาในน้ำโขง และผลกระทบที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ชาวบ้านที่มีอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งอาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขง จะไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้อย่างเดิม เพราะไม่สามารถประมงน้ำจืด และทำการเกษตรริมแม่น้ำโขงได้ แน่นอนว่า ส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้อง ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของชาวบ้าน