น้ำโขงช่วงต้นฤดูฝนแล้งสุดตั้งแต่มีการบันทึก คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแจง

น้ำโขงช่วงต้นฤดูฝนแล้งสุดตั้งแต่มีการบันทึก คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแจง

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) แจงในเอกสารข่าวที่เผยแพร่ในเวบไซต์วันนี้ว่า ระดับแม่น้ำโขงช่วงต้นฤดูฝนนี้ มีระดับต่ำกว่าค่าระดับต่ำสุดตั้งแต่มีการบันทึกมา โดยมีบางปัจจัยสำคัญที่อาจเป็นสาเหตุ รวมทั้งฝนแล้ง และการกักน้ำของเขื่อนจีน

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือ MRC ระบุว่า ระดับนำ้ในแม่น้ำโขงระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฏาคมที่เป็นต้นฤดูฝน พบว่า มีระดับที่ตำ่สุด โดยลดลงตำ่กว่าค่าระดับน้ำตำ่สุดที่เคยบันทึกในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ซึ่งเคยบันทึกไว้ในปี พ.ศ. 2535

โดยระดับน้ำดังกล่าว บันทึกได้ตั้งแต่ช่วงตอนบนของลำน้ำ ไล่มาตั้งแต่เชียงแสน จนมาถึงหลวงพระบางของประเทศลาว และเวียงจันทร์ ไปจนถึงทางภาคอีสานของประเทศไทย จังหวัดหนองคาย และเมือง Neak Luong ในกัมพูชา

MRC ยกตัวอย่างว่า เชียงแสนเวลานี้มีระดับน้ำอยู่ที่ 2.10 เมตร ซึ่งตำ่กว่าค่าระดับน้ำตำ่สุดประมาณ 0.75 เมตร และตำ่กว่าระดับค่าเฉลี่ยที่วัดในรอบ 57 ปี 3.02 เมตร

MRC ยังระบุอีกว่า แม้จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่ระดับน้ำที่ลดลงเวลานี้ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติที่ช่วงเวลานี้ระดับน้ำควรจะมีระดับที่ค่อยๆเพิ่มสูงขึ้น

จากการวิเคราะห์ของ MRC พบว่า มีบางปัจจัยที่สำคัญที่อาจเป็นสาเหตุของระดับน้ำที่ลดตำ่ลง โดย MRC พบว่า ฝนมีน้อยในช่วงเร่ิมต้นของฤดู ที่เชียงแสน มีฝนตกน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ โดยพบว่าลดลงกว่า 60% ของค่าฝนเฉลี่ยของเดือนมิถุนายน นอกจากนั้น ค่าเฉลี่ยปริมาณฝนของทั้งลุ่มน้ำอาจมีผลทำให้น้ำใต้ดินลดลง ซึ่งมีผลทำให้น้ำในแม่น้ำมีปริมาณที่ลดลงไปด้วย

MRC ยังระบุอีกว่า ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากแม่น้ำโขงตอนบนที่รู้จักกันว่า ล้านช้าง (ช่วงที่อยู่ในประเทศจีน) “มีความเป็นไปได้ที่อาจมีผลกับระดับน้ำที่ลดตำ่ลง”

จากการแจ้งของจีน ช่วงระหว่างวันที่ 5-19 กรกฏาคม ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากเขื่อนจิงหงในยูนนาน อาจมีสภาวะผันผวน โดยมีปริมาณการไหลที่ 1,050 – 1,250 ลบ.ม ต่อวินาที เหลือเพียง 504 – 600 เนื่องจากการปิดซ่อมแซม

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น่าจะดีขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้ MRC ระบุ

นอกจากระดับน้ำที่ลดลงตำ่ผิดปกติแล้ว แม่น้ำโขงยังเกิดความผันผวนจากอีกหนึ่งตัวแปรคือ เขื่อนไซยะบุรี ซึ่งกำลังเปิดปิดประตูระบายน้ำเพื่อทำการทดลองการใช้งานของเขื่อนตั้งแต่เที่ยงวันของเมื่อวาน เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประเทศไทยและพม่า Internatinal Rivers กล่าว

ก่อนหน้านี้ เวบไซต์ข่าวภาษาลาว Laoedaily ได้รายงานการแจ้งข่าวด่วนให้ชาวบ้านเมืองปากลาย ประเทศลาวเฝ้าระวังระดับน้ำโขงที่จะผันผวนระหว่างวันที่ 15-29 กรกฎาคมนี้ เนื่องจากการปิดเปิดประตูระบายน้ำของเขื่อนไซยะบุรีซึ่งอยู่ในขั้นตอนการทดลองการปั่นกระแสไฟฟ้า และอาจทำให้ระดับน้ำโขงสูงขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็ว

แต่เมื่อวานนี้ มีการระบุถึงระดับน้ำท้ายเขื่อนที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในระดับ “237 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล” โดยระดับน้ำเหนือเขื่อน จะลดลงจาก “273 เมตร เหลือ 271 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล” Laoedaily รายงาน

เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงซึ่งได้ฟ้องต่อศาลปกครองในประเด็นข้อห่วงใยเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนของเขื่อนไซยะบุรี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแห่งนี้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้น

สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติกำลังอยู่ในระหว่างตรวจสอบข้อเท็จจริงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการทดลองใช้งานของเขื่อนไซยะบุรี

เขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในยูนนานของจีน เริ่มสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2536 โดยสร้างเสร็จไปแล้ว 10 เขื่อน จากที่วางแผนไว้ทั้งหมด 28 โครงการ โดยเขื่อนใหญ่สุดในเวลานี้ จุน้ำได้ถึง 14 ลูกบาศก์กิโลเมตร IR ระบุ

ส่วนแม่น้ำโขงตอนล่าง มีแผนก่อสร้าง 11 โครงการเขื่อน ในลาว พรมแดนไทยลาว และในกัมพูชา โดยมีเขื่อนไซยะบุรี Xayaburi dam (กำลังผลิตติดตั้ง 1,285 เมกกะวัตต์) เป็นเขื่อนแห่งแรกที่สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่างที่ประเทศลาว ห่างจากหลวงพระบางราว 80 กม. และห่างจาก อ.เชียงคาน จ.เลย ราว 200 กม. 

เขื่อนไซยะบุรี เป็นการลงทุนของบริษัท ช.การช่าง มูลค่าราว 1.5 แสนล้านบาท โดยมีธนาคารไทย 6 แห่งเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อ ทำสัญญาขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 1,220 เมกกะวัตต์ เป็นเวลา 29 ปี และจะเริ่มขายไฟฟ้าตามสัญญาเดือนตุลาคมนี้

ภาพ แม่น้ำโขงช่วงเวียงจันทร์/ เครดิต: MRC