ไอเอ็มเอฟเตือนทั่วโลกเลี่ยงใช้นโยบายบิดเบือนการค้า

ไอเอ็มเอฟเตือนทั่วโลกเลี่ยงใช้นโยบายบิดเบือนการค้า

การตัดสินใจขึ้นภาษีในแต่ละครั้งนั้นทำให้ราคาผู้บริโภคต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตของโลก

หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กล่าวว่า ความตึงเครียดด้านการค้าที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แม้จะยังไม่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดโลกไร้ความสมดุล แต่ปัญหาดังกล่าวกำลังกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตของโลก ดังนั้นประเทศต่างๆจึงควรหลีกเลี่ยงการดำเนินนโยบายการค้าที่บิดเบือนจากความเป็นจริง

นางจิตา โกปินาธ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเรื่องการเปิดเผยรายงาน External Sector Report ซึ่งเป็นการประเมินค่าเงินและดุลการค้าของประเทศเศรษฐกิจสำคัญทั่วโลกประจำปีว่า “เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการค้าระดับทวิภาคีซึ่งเพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ยังไม่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของโลกอยู่ในภาวะไร้สมดุล แต่ความไม่สมดุลจากภายนอกที่สะท้อนมาจากนโยบายระดับมหภาคกำลังกระทบต่อการออมและการลงทุน”

โกปินาธ  ย้ำถึงผลกระทบที่เกิดจากข้อพิพาทการค้าระหว่างประเทศต่าง โดยระบุว่า การตัดสินใจขึ้นภาษีในแต่ละครั้งนั้นทำให้ราคาผู้บริโภคต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนและการเติบโตของโลก ทั้งยังเป็นการบั่นทอนความเชื่อมั่น และสร้างอุปสรรค์ให้กับซัพพลายเซนทั่วโลกอีกด้วย

“ทุกประเทศจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการใช้นโยบายที่เป็นการบิดเบือนการค้า” โกปินาธ  กล่าว

รายงานดังกล่าวของไอเอ็มเอฟ ยังแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดุลบัญชีเดินสะพัดของโลก ตั้งแต่หลังวิกฤติการเงิน ซึ่งพบว่า การขาดดุลและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในภาพรวมลดลงอย่างมากจากประมาณ 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ในปี 2550 เหลือเพียง 3.5% ในปี 2556 และจากนั้นมาดุลบัญชีเดินสะพัดก็ขยับลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 3% ของจีดีพี ในปี 2561

นอกจากนี้ โกปินาธ ยังกล่าวว่า ประเทศที่ต้องเผชิญการขาดดุลการค้าอย่างอังกฤษและสหรัฐ ควรดำเนินนโยบายการเงินที่สนับสนุนการเติบโต ในทางกลับกัน ประเทศที่มียอดเกินดุลอย่างเยอรมนีและเกาหลีใต้ ก็ควรใช้นโยบายการคลังในการส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ตลอดจนสร้างการเติบโตอย่างมีศักยภาพ