“ไอซีซี.”ยกเครื่องอีโคซิสเทม เชื่อมออนไลน์สู้ศึก“ดีสรัป”

“ไอซีซี.”ยกเครื่องอีโคซิสเทม เชื่อมออนไลน์สู้ศึก“ดีสรัป”

เครือสหพัฒน์ ธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภค -บริโภครายใหญ่ของไทย ยอดขายเฉียด 3 แสนล้านบาท กำลังจะสร้าง Ecosystem หรือสิ่งแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจใหม่ เพื่อสู้ศึกเทคโนโลยีปั่นป่วน (ดิจิทัล ดีสรัปชัน) โดยเฉพาะการเชื่อมโลกออฟไลน์และออนไลน์

เพื่อให้การค้าขายสินค้าของทั้งเครือมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภคได้แม่นยำยิ่งขึ้น 

โดยที่ผ่านมา บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ได้ตั้งเป้าว่าในอีก 3 ปีจากนี้ หรือในปี 2564 ยอดขายจากออนไลน์จะต้องเพิ่มสัดส่วนเป็น 10% หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เมื่อเทียบกับปัจจุบันที่มีสัดส่วน 4% ของยอดขายรวมเครือ

ทั้งนี้ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) หรือ ไอ.ซี.ซี.  ผู้จัดจำหน่ายสินค้าแฟชั่นทั้งในและต่างประเทศรายใหญ่ มีรายได้

ในปีที่ผ่านมา 13,376.80 ล้านบาท เป็นหนึ่งในบริษัทในเครือ ที่ต้องขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าวเช่นกัน  

ผ่านคำบอกเล่าของ "สุรัตน์ วงศ์รัตนภัสสร" กรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ระบุว่า ธุรกิจแฟชั่น ถือเป็นธุรกิจที่ถูกเทคโลโลยีเข้ามาปั่นป่วน (ดิสรัป) มากที่สุดธุรกิจหนึ่ง โดยการค้าออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) ถือว่ามีบทบาทแรงมากในการชิงยอดขาย ส่วนเครื่องสำอาง ลูกค้าที่เคยซื้อสินค้าจากบริษัท ตอนนี้บางรายก็ผันตัวเองไปเป็นผู้ประกอบการเสียเอง นำเข้าสินค้าต้นทุนต่ำจากจีน กลายเป็นคู่แข่งของบริษัทก็เพราะอิทธิพลของค้าออนไลน์ ทำให้ไอ.ซี.ซี. ต้องปรับตัว ! 

"ท่านประธานบุณยสิทธิ์ดำริว่า เราต้องสร้างอีโคซิสเทม สร้างบิ๊กดาต้าของเราขึ้นมาเอง เพื่อรับการทำธุรกิจในอนาคต

สำหรับอีโคซิสเทมที่จะสร้างให้แข็งแกร่ง มี 3 ส่วน ได้แก่ 1.โลจิสติกส์ซิสเทม ซึ่งเครือได้สร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่ราว 7.4 หมื่นตารางเมตร(ตร.ม.)ย่านสุวรรณภูมิ นำแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นหนึ่งในซอฟแวร์ที่ทันสมัยสุดในโลกมาใช้ในการบริหารจัดการซัพพลายเชน ซึ่งคาดว่าคลังดังกล่าวจะสร้างเสร็จปลายปีนี้ 

2.แพลตฟอร์มซิสเทม เพื่อเชื่อมโยงลูกค้าของเครือผ่านบัตรสมาชิก His&Her กว่า 2.7 ล้านคน โดยมีลูกค้าที่แอ๊คทีพซื้อสินค้าประจำ 4-5 ครั้งต่อปี ยอดซื้อเฉลี่ย 2 หมื่นบาทต่อครั้ง ประมาณ 5 แสนราย ตลอดจนแอพพลิเคชั่นไลน์กว่า 5 ล้านราย และแฟนเพจเฟสบุ๊คหลักล้าน รวมฐานลูกค้าในเครือเกือบ 20 ล้านราย ในการทำโปรโมชั่น มอบสิทธิประโยชน์ให้แก่ลูกค้า

นอกจากนี้ จะเปิดกว้างในการทำตลาดสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า(CRM)พันธมิตรต่างๆ เช่น กลุ่มทรู (เครือซีพี) ที่มีฐานลูกค้าสมาชิกร่วม 13 ล้านราย แรบบิท รีวอร์ดส หลัก 10 ล้านราย รวมถึงลูกค้าสมาชิกของธนูลักษณ์ ในเครือสหพัฒน์ เป็นต้น ในการจัดส่งสินค้าใหม่ให้ทดลอง กระตุ้นให้เกิดการซื้อสินค้าตามมา 

ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างร่วมกับ พีทีจี เอ็นเนอยี (ผู้ดำเนินธุรกิจค้าน้ำมันเชื้อเพลิงภายใต้สถานีบริการน้ำมัน PT รวมถึงธุรกิจร้านสะดวกซื้อ Max Mart และธุรกิจร้านกาแฟพันธุ์ไทย และร้านคอฟฟี่ เวิลด์ เป็นต้น) เพื่อหาแนวทางผนึกกำลังในการทำตลาดซีอาร์เอ็มเพิ่มเติม และช่วยเสริมแกร่งในการทำตลาดซึ่งกันและกัน โดยสหพัฒน์มีสินค้าและบริการหลายอย่างที่ตอบโจทย์และพีทีจียังไม่มี

และ 3.สร้างอีโคซิสเทมสำหรับการขยายร้านค้าออฟไลน์เชื่อมสู่ออนไลน์ เช่น ออกสินค้ามาม่ารสผัดไข่เค็ม ส่งคอนเทนท์แจ้งให้ลูกค้าทราบผ่านไลน์ แจ้งโปรโมชั่นรับสินค้าฟรี หรือซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ลาซาด้า ช้อปปี้ หรือร้านออฟไลน์ที่ร้านสะดวกซื้อลอว์สัน 108 เป็นต้น 

ทั้งนี้ การสร้างอีโคซิสเทมดังกล่าว คาดว่าช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำตลาด เพิ่มความเร็วให้ธุรกิจมากขึ้น และบริษัทจะได้ฐานลูกค้าซึ่งกันและกันกับพันธมิตร นำมาต่อยอด แบ่งปันสิทธิประโยชน์ระหว่างกัน เช่น ลูกค้าบัตรสมาชิก His&Her ได้สิทธิประโยชน์ใช้บริการบีทีเอส ทำให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อแบรนด์หรือลอยัลตี้มากขึ้น และสร้างการเติบโตยอดขาย 20%ในอีก 3 ปี

เราลงทุนหลัก 100 ล้านบาท เป้าหมายในการสร้างอีโคซิสเทม จะได้บิ๊กเดต้า นำมาวิเคราะห์ ทำความเข้าใจพฤติกรรมและพยากรณ์ความต้องการของลูกค้า แล้วนำมาเอื้อประโยชน์ในการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง รวมถึงการเปิดสาขาใหม่ และยังช่วยให้วางแผนประเมินความต้องการรวมถึงการออกสินค้าใหม่ เปิดสาขาใหม่ ทำตลาดได้แม่นยำเป็นรายบุคคล หรือ one to one marketing องค์กรดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ที่สำคัญสามารถคาดการณ์ยอดขายสินค้าได้เที่ยงตรงด้วย

นอกจากนี้ ปี 2562 ไอ.ซี.ซี. ยังปรับตัวในการรุกธุรกิจแฟชั่น ด้วยการลดแบรนด์ที่ผลการดำเนินงานไม่โดดเด่น และแข่งขันลำบาก จากมีสินค้ากว่า 90 แบรนด์เหลือ 90 แบรนด์ ยุติการขายแบรนด์ เปเป้ ยีนส์ทำตลาดมา 2 ปี เผชิญการแข่งขันกับแบรนด์ลีวายส์ และแม็คยีนส์ รวมถึงลดการทำแอมบาสเดอร์แบรนด์ ที่มีเกือบ 10 แบรนด์ เหลือราว 2 แบรนด์ในหมวดหมู่เสื้อผ้า กระเป๋า เครื่องสำอาง เนื่องจากปัจจุบันตลาดมีผู้ทรงอิทธิพล(อินฟลูเอ็นเซอร์) ไอดอลต่างๆ ที่สร้างแบรนด์แข่งได้ ขณะที่แบรนด์เหล่านั้นจะโตตามวัย และไม่สามารถรีเฟรชให้ทันสมัยได้

ขณะเดียวกันบริษัทยังปรับโฉม His&Her ช้อปให้เป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น นำร้านกาแฟเบรนเวก คาเฟ่ (Brainwake cafe) ของสุรนันท์ เวชชาชีวะ มาให้บริการ รวมถึงสินค้าไอทีต่างๆเข้ามาภายในร้าน และลดพื้นที่สินค้าแฟชั่นลงเหลือ 70% ปัจจุบัน His&Her มีราว 80 สาขา จากปีก่อนมี 100 กว่าสาขา