ส่องสาร 'สหรัฐ' ยินดี 'ไทย' กับวาระที่มากกว่ายกระดับความสัมพันธ์

ส่องสาร 'สหรัฐ' ยินดี 'ไทย' กับวาระที่มากกว่ายกระดับความสัมพันธ์

หลังจากคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณได้เพียงวันเดียว กระทรวงต่างประเทศของสหรัฐก็ส่งสารแสดงความยินดีกับรัฐบาลชุดใหม่

และรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐยังเตรียมเยือนไทยช่วงปลายเดือนนี้ ตอกย้ำว่าสหรัฐให้ความสำคัญกับไทยและภูมิภาคนี้มากแค่ไหน โดยเฉพาะในช่วงที่สหรัฐและจีนมีกรณีขัดแย้งทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างกัน  

วานนี้ (17 ก.ค.) กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เผยแพร่แถลงการณ์ที่ระบุว่า นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ แสดงความยินดีกับรัฐบาลชุดใหม่ของไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  พร้อมระบุว่า สหรัฐเฝ้ารอที่จะได้ร่วมงานกับรัฐบาลไทยชุดใหม่ เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของการเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนในระดับทวิภาคีให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

ส่องสาร \'สหรัฐ\' ยินดี \'ไทย\' กับวาระที่มากกว่ายกระดับความสัมพันธ์

ดังเช่นความร่วมมือที่ยาวนานและแน่นแฟ้นตลอดระยะเวลานานกว่า 2 ศตวรรษที่ผ่านมา และสหรัฐสนับสนุนความโปร่งใส ตลอดจนธรรมาภิบาลที่ดีในการปกครอง และยึดมั่นหลักการดังกล่าวในการร่วมงานกับรัฐบาลและชาวไทยสืบต่อไป

ปอมเปโอ  ยังย้ำถึงความแข็งแกร่งในการเป็นพันธมิตรระหว่างสหรัฐกับไทย และรัฐบาลวอชิงตันจะสนับสนุนบทบาทของไทยในฐานะประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ประจำปีนี้ และความเป็นพันธมิตรในระดับทวิภาคียิ่งเข้มแข็งมากขึ้นเมื่อไทยและสหรัฐร่วมมือกันเพื่อก้าวสู่เป้าหมายที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง สันติภาพ ตลอดจนความเจิรญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ไปจนถึงทั่วโลก

พันธไมตรีระหว่างสหรัฐและประเทศไทยแข็งแกร่งเหมือนเช่นที่เคยเป็นมาไม่เปลี่ยนแปลง และเราจะยังคงสนับสนุนประเทศไทยในฐานะผู้นำของภูมิภาค ซึ่งรวมถึงการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างเราจะแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นเมื่อเราร่วมมือกันขับเคลื่อนเป้าหมายที่ทั้งสองประเทศมีร่วมกัน อันได้แก่ ความมั่นคง สันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และทั่วโลก”แถลงการณ์ของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ระบุ

ปอมเปโอ มีกำหนดเยือนไทยระหว่างวันที่ 29 ก.ค. - 3 ส.ค. นี้ เพื่อเข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทางการไทย และร่วมการประชุมอาเซียนช่วงกลางปีหลายรายการ ที่เป็นระดับรัฐมนตรีต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เออาร์เอฟ) และการประชุมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับกลุ่มลุ่มน้ำโขง ถือเป็นรมว.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐคนที่ 2 ในยุครัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเยือนไทย ต่อจากนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน เมื่อเดือน ส.ค. ปี 2560

การเยือนไทยของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐครั้งนี้ นอกจากจะตอกย้ำว่า สหรัฐให้การยอมรับรัฐบาลชุดใหม่ของไทยที่มีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังสะท้อนว่าสหรัฐ ให้ความสำคัญกับความร่วมมือภายใต้แนวคิดอินโด-แปซิฟิก  ซึ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้น  และมีแนวโน้มจะเปลี่ยนรูปร่างไปสู่การเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองระหว่างประเทศของหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น สหรัฐ อินเดียและออสเตรเลีย หรืออาจรวมไปถึงประเทศอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์สอดคล้องกับแนวคิดดังกล่าว แต่ยังมีประเด็นท้าทายเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายต่างประเทศภายใต้แนวคิดอินโด-แปซิฟิก อยู่อีกมาก

โดยเฉพาะนโยบายอเมริกันต้องมาก่อนของสหรัฐ อาจเป็นอุปสรรคในการสร้างเอกภาพของกลุ่มพันธมิตร เนื่องจากสหรัฐมีความสนใจด้านการค้าเสรีและเศรษฐกิจอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าของสหรัฐขณะที่ญี่ปุ่นสนใจด้านความมั่นคงทางทะเลและความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค แต่ ญี่ปุ่นไม่มีแหล่งเงินทุนที่เพียงพอในการขับเคลื่อนนโยบายทำให้ญี่ปุ่นต้องร่วมมือกับสหรัฐ

ซึ่งต่างจากจีนที่มีกลไกการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (เอไอไอบี) และกองทุนเส้นทางสายไหม (Silk Road Fund) เพื่อรองรับข้อริเริ่มเส้นทางสายไหมใหม่ (บีอาร์ไอ) ของตนเอง ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายของญี่ปุ่นและสหรัฐ ที่จะต้องแสดงความชัดเจนและเป็นรูปธรรมว่า แนวคิดอินโด-แปซิฟิก ไม่ใช่แนวคิดที่มีเพื่อคานอำนาจและอิทธิพลของจีน แต่จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ ทุกฝ่ายยังต้องคำนึงถึงสถานการณ์ในภูมิภาค รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขยายความร่วมมือภายใต้แนวคิดอินโด-แปซิฟิก เช่น สถานการณ์ในรัฐยะไข่ และคาบสมุทรเกาหลี ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ และปัญหาโจรสลัดในโซมาเลียและอ่าวเอเดน

แนวคิดอินโด-แปซิฟิก เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศของญี่ปุ่น ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านการเมืองที่ต้องการให้สหรัฐ เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคในบริบทที่จีนได้แผ่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคมากขึ้นเรื่อย ๆ และด้านเศรษฐกิจ ที่ต้องการส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาครอบมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย โดยมุ่งเน้นความสนใจไปที่อินเดียและแอฟริกา เพื่อขยายตลาดและเครือข่ายความเชื่อมโยงในภูมิภาค และแม้ว่าสหรัฐหรือประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค จะมีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่แนวคิดฯ ดังกล่าวจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการจัดทำยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของหลาย ๆ ประเทศในอนาคต

ที่ผ่านมา ปอมเปโอ เรียกร้องให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รักษาความเป็นประเทศเสรีและเปิดกว้าง พร้อมทั้งเผยแผนจัดตั้งกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ มูลค่า 113.5 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายกรอบการค้าและการลงทุนในประเทศพันธมิตร โดยเล็งประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ที่เน้นพัฒนาด้านเทคโนโลยี การส่งออกสินค้าจากสหรัฐมายังเอเชีย และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านพลังงาน พร้อมทั้งยืนยันว่า นี่คือความต้องการในการแสวงหาหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ไม่ใช่การแสวงหาเมืองขึ้น

แต่นักวิเคราะห์ก็มองว่า เงินก้อนนี้เป็นการให้แบบเสียไม่ได้ของสหรัฐ เพราะไม่ได้เป็นการให้กับ 10 ประเทศอาเซียน แต่ครอบคลุมถึงเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้  และเอเชียใต้ ซึ่งหมายความว่าสหรัฐใช้เงินก้อนนี้ดำเนินยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ทั้งหมด

นักวิเคราะห์ทั่วเอเชีย ตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของปอมเปโอ  ที่สะท้อนมุมมองและแนวคิดของรัฐบาลสหรัฐต่อภูมิภาคนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน และกรณีพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐกับประเทศคู่ค่าอื่นๆ จึงทำให้สหรัฐต้องหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับประเทศที่มีบทบาทสำคัญ หรือเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์การเมืองที่สำคัญของภูมิภาค