อช. แก่งกระจานกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ถิ่นอาศัยจระเข้นำ้จืดสายพันธุ์ไทยที่ใกล้สูญพันธ์ุ

อช. แก่งกระจานกำหนดพื้นที่อนุรักษ์ถิ่นอาศัยจระเข้นำ้จืดสายพันธุ์ไทยที่ใกล้สูญพันธ์ุ

ทีมตรวจสอบฯ พบร่องรอยการวางไข่ครั้งล่าสุด อช. พร้อมวางกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังป้องกันภัยคุกคามรัง

นายมานะ เพิ่มพูน หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้เปิดเผยกับเพชรภูมิ ฮอตนิวส์ว่า ได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่พร้อมสัตวแพทย์ลงตรวจสอบพื้นที่ริมแม่น้ำเพชรบุรีบริเวณวังข่า ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านโป่งลึก-บางกลอยประมาณ 4 กิโลเมตรเมื่อวานนี้ เพื่อสำรวจติดตามการวางไข่ของจระเข้สายพันธุ์ไทย หลังจากได้รับรายงานจากหัวหน้าหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ กจ.10 ห้วยแม่สะเรียงในบริเวณใกล้เคียง

โดยทีมตรวจสอบฯ พบการทำรังวางไข่บริเวณวังข่า ซึ่งมีไข่สิบกว่าฟอง แต่ถูกสัตว์เลื้อยคลานรื้อกินเสียหาย เหลือสภาพสมบูรณ์ 1 ฟองแต่ก็ไม่พบเชื้อตัวผู้ผสมแต่อย่างใด

เพื่อเป็นการคุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยของจระเข้ในพื้นที่ จึงได้กำหนดมาตรการเบื้องต้น โดยกำหนดให้พื้นที่ริมแม่น้ำเพชรบุรีบริเวณวังข่า เป็นพื้นที่คุ้มครองถิ่นที่อยู่อาศัยและการวางไข่ของจระเข้ โดยได้ประกาศแจ้งหน่วยงานต่างๆ รวมถึงราษฎรให้ทราบ พร้อมจัดชุดกำลังเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกันภัยคุกคามรังเมื่อพบว่ามีการวางไข่ของจระเข้

นายมานะกล่าวเพิ่มเติมว่า ยังมีความหวังในการได้เจอจระเข้สายพันธุ์ไทยแท้ เนื่องจากมีการลาดตระเวนเชิงคุณภาพครอบคลุมพื้นที่ ซึ่งในพื้นที่ห่างไกลจากชุมชนพบว่ามีร่องรอยของจระเข้เหมาะต่อการศึกษาทางวิชาการ โดยร่องรอยใหม่ที่พบอยู่ที่รอยต่อระหว่างอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชีและอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน

ข้อมูลจากกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า จระเข้นำ้จืดสายพันธุ์ไทย (freshwater crocodile, Siamese crocodile) เคยพบชุกชุมในแหล่งนำ้ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ปัจจุบันได้สูญหายไปจนเกือบหมดแล้ว

อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธ์ุ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) ได้ขึ้นบัญชีจระเข้นำ้จืดสายพันธุ์ไทย ไว้ในบัญชีหมายเลข 1(Appendix I) และสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (International Union for Conversation of Nature and Natural Resources: IUCN) จัดให้เป็นชนิดที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (CR - Critically endangered species) ในระดับความเสี่ยงขั้นอันตรายต่อการสูญพันธุ์จากที่อาศัยตามธรรมชาติ

ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า จระเข้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ในประเทศไทย มีรายงานการพบเห็นจระเข้นำ้จืดนี้ในบางพื้นที่ เช่น เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา แต่ที่ อช.แก่งกระจาน หลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นจระเข้นำ้จืดในธรรมชาติสายพันธ์ุแท้ และทำให้ อช.ได้รับความสนใจว่าเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์จระเข้สายพันธุ์นี้

และจระเข้สายพันธุ์ไทยแท้นี้ เป็นหนึ่งในดัชนีสำคัญที่สะท้อนความสมบูรณ์ของผืนป่าแก่งกระจานในการนำเสนอให้เป็นมรดกโลก

การสำรวจจระเข้สายพันธุ์ไทยในพื้นที่ป่าแก่งกระจาน เริ่มขึ้นในราวปี พ.ศ. 2544 หลังจากที่สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย จัดการอบรมการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าเพื่อสำรวจและติดตามประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ แต่ด้วยความบังเอิญ กล้องหนึ่งตัวสามารถถ่ายภาพจระเข้น้ำจืดได้ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของโครงการสำรวจฯ ในปีต่อๆมา บวกกับที่ทาง อช. ได้มองเห็นความสำคัญและคัดเลือกจระเข้น้ำจืดเป็นชนิดพันธุ์แห่งผืนป่า (Living Landscape Species) เพื่อช่วยกำหนดมาตรการจัดการเพื่อการอนุรักษ์ในพื้นที่

การพบรังจระข้ในธรรมชาติมีการรายงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2551 และในปีต่อๆมามีการสำรวจเป็นระยะ และพบร่องรอยยืนยันการดำรงอยู่ในถิ่นธรรมชาติในอช.แก่งกระจานของจระเข้พันธุ์ไทยแท้นี้

ในปี พ.ศ. 2559 ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ ได้รายงานการสำรวจสถานภาพของจระเข้น้าจืดในอุทยานฯโดยพบว่าในพื้นที่บริเวณแม่นำ้เพชรบุรีและแม่นำ้บางกลอย อย่างน้อย 10 บริเวณ ยังคงพบร่องรอยการของจระเข้น้าจืดปรากฏอยู่ โดยมีการสุ่มวางกล้องดักถ่ายภาพแบบอัตโนมัติและสามารถบันทึกภาพไว้ได้ในบางบริเวณ

จากการประเมินถิ่นที่อยู่อาศัยและลักษณะนิเวศวิทยา พบว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสมมาก เนื่องจากสภาพพื้นที่ไม่ถูกรบกวน ทางศูนย์ฯ ระบุ

ภาพร่องรอยที่เชื่อว่าเป็นรอยของจระเข้ที่ถูกพบในพื้นที่/ เครดิต: นายมานะ เพิ่มพูน