ไอเอ็มเอฟหั่นจีดีพี ‘สิงคโปร์’ เหลือโตแค่ 2%

ไอเอ็มเอฟหั่นจีดีพี ‘สิงคโปร์’ เหลือโตแค่ 2%

“ไอเอ็มเอฟ” หั่นคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปีนี้เหลือ 2% ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับสงครามการค้าสหรัฐ-จีน พร้อมชมการกำกับดูแลภาคการเงินอยู่ในระดับ "แถวหน้าของโลก"

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกแถลงการณ์วานนี้ (16 ก.ค.) ปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปีนี้จาก 2.3% เหลือ 2.0% ขณะที่อัตราการขยายตัวแบบรายไตรมาสอยู่ที่เพียง 0.1% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ถือเป็นอัตราชะลอตัวที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษ ส่งผลให้มีแนวโน้มของการถดถอยและธนาคารกลางสิงคโปร์อาจผ่อนคลายนโยบายการเงินบางประการในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ไอเอ็มเอฟคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในระยะกลาง “มีเสถียรภาพ” อยู่ที่ระดับ 2.5%

รายงานของไอเอ็มเอฟ ให้เหตุผลรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนเป็นตัวแปรสำคัญ สอดคล้องกับรายงานโดยกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวเพียง 3.4% ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ลดลง 0.4% จากไตรมาสแรกของปีซึ่งอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.8%

อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบเป็นสถิติแบบรายปีปรากฏว่าเศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัวเพียง 0.1% เท่านั้นในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติการเงินโลกระหว่างปี 2551-2552 และรัฐบาลเน้นย้ำทุกฝ่ายว่าเป็นผลกระทบจากสงครามการค้า 2 ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก

นอกจากนั้น ไอเอ็มเอฟเรียกร้องให้รัฐบาลสิงคโปร์เพิ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับประชากรสูงอายุและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งแนะนำให้แก้ไขกฎเกณฑ์ธนาคารเพื่อรับประกันว่าธนาคารจะสามารถเข้าถึงเงินตราต่างประเทศได้มากเพียงพอกรณีเกิดวิกฤติขึ้น

ในวันเดียวกัน ธนาคารกลางสิงคโปร์ (เอ็มเอเอส) เผยแพร่รายงานของไอเอ็มเอฟที่ตอกย้ำว่า การกำกับดูแลภาคการเงินของสิงคโปร์ “ดีที่สุดระดับแถวหน้าของโลก” และเสริมว่า มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและนโยบายเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้

ไอเอ็มเอฟชี้ว่า ภาพรวมของภาคการเงินสิงคโปร์พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงรอบด้าน เนื่องจากมีมาตรการป้องกันที่แข็งแกร่งกรณีเกิดภาวะช็อกเชิงลบอย่างรุนแรง

ขณะที่การออกกฎเกณฑ์และกำกับดูแลเทคโนโลยีทางการเงิน (ฟินเทค) ไอเอ็มเอฟมองว่า เอ็มเอเอสรักษาสมดุลได้ดีระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินไปพร้อมกับการรักษาเสถียรภาพทางการเงิน